ชีวิตคนทำฟาร์ม  ฟาร์มเจ๊ณี
( ข้อมูล เนื้อหา  ที่ท่านกำลังจะรับชมต่อไปนี้ 
ได้ถูกบันทึกเมื่อ 25 กันยายน 2544 โดยชมรมปลาคาร์พ
ไทย-ญี่ปุ่น TJFC ซึ่งผมนายรัน  ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้น  ปัจจุบันฟาร์มเจีณีได้กลายเป็นอดีต  เหลือเพียง
ความทรงจำ ให้นักเลี้ยงรุ่นหลังได้ทราบว่า นี่คือฟาร์มปลาคาร์พแห่งแรก  ปฐมบทของวงการปลาคาร์พ
เมืองไทย )

      หากบางท่านที่เคยได้เข้าไปสัมผัสกับฟาร์มเจ๊ณี  ในก้าวแรกที่หยุดอยู่ที่หน้าประตูรั้ว จะได้ซึมซับถึง
ความคลาสสิค  ซึ่งหาได้ยากยิ่งในฟาร์มปัจจุบันนี้   ยิ่งได้พูดคุยและสัมผัสกับคนที่นี่  จะได้รับรู้ถึงความ
อบอุ่นและเป็นกันเอง  เหมือนพี่เหมือนน้องเหมือนลูกเหมือนหลาน  ซึ่งทำให้ลืมคำว่าผู้ซื้อและผู้ขาย หาก
จะกล่าวถึงผู้ซื้อและผู้ขาย  ก็คงจะไม่ผิดที่จะกล่าวว่าเป็นผู้ซื้อและผู้ขายที่ซื่อสัตย์ต่อกันมานานนับสิบ ๆ ปี
ซึ่งที่นี่เป็นแหล่งปลาชั้นดี ในราคามิตรภาพจริง ๆ ที่ Koi lover สามารถสัมผัสกับปลาที่มีคุณภาพได้ใน
ราคาที่ย่อมเยาว์
                นายแช่ม  แกรงกระโทก ชายไทยวัยกลางคน ผิวดำแดง ร่างสันทัด ผู้ซึ่งมาจากดินแดนที่ราบสูง จ. นครราชสีมา
        จ.นครราชสีมา  หลังจากจบชั้นประถมปีที่ 4 ขณะนั้นอายุประมาณ 12 ปี  ต้องการเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง  ซึ่ง
        เป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่ต้องการเข้ามาขุดทองในดินแดนแห่งความศิวิไลย์  หลังจากที่เข้ามาในกรุงเทพฯ  แล้วคิดที่จะหา
        งานทำซึ่งงานแรกจะลองเป็นกระเป๋ารถเมล์ดู   ขณะนั้นคุณพ่อรับจ้างขับแท็กซี่อยู่  เกิดกลัวว่าลูกชายสุดที่รักจะตกรถ
        เมล์เสียชีวิตซะก่อน  จึงได้ฝากลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไว้กับลูกพี่ลูกน้อง  ซึ่งทำงานอยู่กับน้องสาวเจ๊ณี (พี่จำปี) ณ. ต่อ
        ไปนี้  ท่านจะได้สัมผัสกับบรรยากาศร่วมสมัยสุดคลาสศิค อันเป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์มปลาคาร์พแห่งแรกของประเทศ
        ไทย ซึ่ง Mr.Koi@CNN จะถ่ายทอดเรื่องเล่าจากคุณแช่ม  ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร  เพื่อให้ Koi lover รุ่นหลัง
        ได้ซึมซับตำนานอันอมตะ   ซึ่งเป็นเรื่องราวอันอยู่ในความทรงจำของชายวัยกลางคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว   ในวงการ
        ปลาคาร์พยุคต้นของเมืองไทยก็ว่าได้ ขอให้ทุกท่านหลับตาและย้อนหลังไปกับผมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

                 " สมัยนั้นร้านของเจ๊ณี (คุณสุวรรณี)  ตั้งอยู่ที่แถวสะพานเหลือง เพาะปลาปอมปาดัวร์ ออสก้า และปลาทั่ว ๆ ไป
        ให้แก่พ่อค้าปลารับไปขายที่ตลาดนัดสนามหลวง   ต่อมาอีกไม่นานเจ๊ณีก็ได้หาที่อยู่ใหม่ให้กว้างขวางมากกว่าเดิม  เพื่อ
        สะดวกในการทำงานเนื่องจากที่เดิมคับแคบไป  จึงได้ที่ดินในซอยสุขุมวิท 64 นี้ (ฟาร์มเจ๊ณีในปัจจุบัน)  ขณะนั้น  คุณ
        ประสาน  วิเศษศิริ สามีของเจ๊ณี  ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัท มิตซูบิชิ  ได้รู้จักกับคุณอำพล  ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท
        กัน  และคุณอำพลได้ค้าขายกับคนญี่ปุ่นอยู่ก่อนหน้านี้  คนญี่ปุ่นผู้นี้ได้ลงทุนให้คุณอำพลทำฟาร์มไข่มุกทางปักษ์ใต้ แล้ว
        ส่งผลิตผลมายังประเทศญี่ปุ่น   ต่อมาคุณอำพลชักชวนคุณประสานและจ๊ณีให้ส่งปลาไทยไปขายที่ญี่ปุ่น   ก็ได้รับความ
        สนใจมาก "


   พี่แช่ม  ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ควรค่า
แก่การรับรู้  เรื่องราวประวัติความเป็น
มา ของวงการปลาคาร์พในบ้านเรา


ประตูบานนี้ไม่เคยปิด รอรับการมาเยือนเสมอ


กลิ่นไอแห่งอดีต30 ปีก่อน  ก็ยังคลุกกรุ่นอยู่

    - ในช่วงนั้นที่ฟาร์มเจ๊ณีเริ่มมีการส่งออกปลาไทยเป็นปลาประเภทใด ?
    " ปลาไทยทุกอย่างที่บ้านเราตั้งแต่ปลาซิว จนถึงปลาใหญ่ ๆ เช่น เทพา
  สวาย  ปลาเสือตอ ปลาแม่น้ำโขงก็จะส่งปลาพวกนี้ไป  เพราะที่ญี่ปุ่นเขา
  มีรูปอยู่นี่คือจุดเริ่มต้นของฟาร์มเจ๊ณี จากนั้นเจ๊ณีก็ไปหาลูกค้าที่ประเทศ
  ญี่ปุ่น ขากลับก็นำปลาคาร์พติดมือกลับมาด้วย เพื่อมาเลี้ยงดูเล่นต่อมาสัก
  พักก็สั่งปลาคาร์พเข้ามาอีก "
    - ในสมัยก่อนเรียกได้ว่าฟาร์มเจ๊ณีเป็นแหล่งรวมปลาไทย  เพื่อส่งออก
  อย่างเดียว ?

  " ใช่ ส่งออกอย่างเดียว  ไม่ได้ให้คนอื่นเข้ามาซื้อเลย "
               - ปลาไทยที่ส่งออกนั้น  เพาะเองด้วยหรือเปล่า ?
              " ไม่ได้เพาะเอง  เพราะสมัยก่อนปลาไทยยังเพาะไม่ได้  แต่มารุ่นหลังๆ กรมประมงก็เพาะได้  แต่เพาะได้เป็นบางอย่างนะ  และต่อมาเจ๊ณีก็เริ่มสั่งปลาคาร์พมา
          ขายก็ขายได้เรื่อย ๆ ในช่วงนั้นย้อนหลังไปประมาณสามสิบกว่าปีแล้ว "
              - คนกลุ่มแรกรู้ว่าที่นี่มีขายปลาคาร์พได้อย่างไร ?
              " บางคนเขารู้ระแคะระคายว่าเป็นบ้านเลี้ยงปลาก็มาดู  ดูไปดูมา  ก็เห็นปลาคาร์พก็พูดกันไปปากต่อปาก "
              - ในสมัยนั้นที่นี่  เป็นฟาร์มปลาคาร์พนำเข้าเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยหรือเปล่าครับ ?
              " ใช่ ครับยังไม่มีฟาร์มอื่นเลย "
              -
ในสมัยนั้นมีกลุ่มคนที่สนใจปลาคาร์พหรือยังครับ ?
              " มีแต่น้อย "
              -
แล้วที่พวกเขาเลี้ยงปลาคาร์พกันในสมัยนั้น เขานำปลามาจากที่ไหน ?
              " สมัยก่อนเป็นพวกปลาใน  หมายถึงปลาคาร์พที่เพาะในประเทศไทย  ในสมัยก่อนปลามันไม่ค่อยมีสี "


ภาพบ่อปลาคาร์พที่ชินตา   นักเลี้ยงปลาทุกยุค
ทุกสมัย   ปัจจุบันก็ยังมีมนต์ขลังอยู่ไม่สร่างซา


เคยมีคำกล่าวว่า  คุณจะไม่มีทางเข้าถึงจิตวิญญาณ
ของคนรักปลาคาร์พได้เลย  ถ้าคุณไม่ได้ ณ.ที่แห่งนี้


ที่ซึ่งเป็นตำนานเล่าขาน ถึงการก่อกำเนิด  เป็นตำ
นานอมตะ ที่อยู่คู่วงการปลาคาร์พของเมืองไทย

              - หากถามว่าปลาโชว่าที่ดีในอุดมคติของพี่แช่มเป็นอย่างไร ?
              “ รูปร่าง  และก็เน้นสี  ลูกเล่นลวดลายเป็นตอนอะไรอย่างนี้ "
              - สีที่ดีเป็นอย่างไร ?
              “ เช่น  แดงต้องแดงเลือดนก  ดำก็ต้องดำถ่าน  ขาวก็ขาวหิมะ "
              - หากถ้าเราเลือกแดงเลือดนก  เราจะเลือกได้แต่ปลาตัวผู้ไม่ใช่หรือครับ ?
              “ ไม่ใช่ครับ ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยว ไม่ใช่สีแดงจะเป็นตัวผู้เสมอไปเราก็ต้องดู "
              - โชว่าที่ดีต้องมีพื้นขาวอย่างไร ?
              " เราก็ต้องดูให้มันบาลานส์กัน  ดูโดยภาพรวมให้แดง  ดำ  หรือขาวให้สอดคล้องกัน "
              -  พี่แช่มชอบโชว่าที่เป็นตอนหรือเป็นลายเลื้อย ?
              " ส่วนมากจะชอบที่เป็นตอน   แต่ว่าก็ต้องดูลูกเล่นมัน "
              - ได้ยินมาว่าสมัยก่อน  คินไดโชว่า ที่ขาวเยอะ ๆ เขาไม่เลี้ยงเลยใช่ไหมครับ  เพราะเป็นโชว่าที่ไม่มีคุณภาพ ?
              " มันไม่ใช่ครับ บางคนแบบว่าไม่รู้จักเล่น มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนชอบ บางคนก็ชอบทึบ ๆ บางคนก็ชอบโปร่ง ๆ อย่าง
              พวกโมเดินท์หรือคินได  มันดูภาพรวมแล้วจะสวย "


เป็นกันเองกับพี่แช่ม  ชนิดเปิดอกคุย


ตู้ปลาน้ำจืดสำหรับส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น


ลีลาการว่ายของเจ้าปลาแสนสวย  ยามค่ำคืน


สะท้อนถึงความสงบ  เรียบง่ายของฟาร์มแห่งนี้

              - ลายดำของโชว่าขณะที่มันเล็ก ๆ มันทึบอยู่แล้ว   ต่อไปโตขึ้นจะมีโอกาสโปร่งขึ้นไหมครับ ?
              " บางตัวก็จะเคลียร์   และบางตัวที่เราเห็นลายดำเป็นเงา ๆ ลึก ๆ ในเนื้อมันจะขึ้นทีหลัง และจะขึ้นแน่นอน  เราเน้นเรื่องสีที่มันดี ๆ สีสด ๆ มันถึงจะได้ปลาที่ดี "
              - อย่างเช่นลายดำที่ผ่าหน้าแทนที่จะผ่าเป็นเส้นเห็นชัดกลับเป็นแบบฝุ่น ๆ ต่อกัน โอกาสที่มันจะบีบตัวกระชับเข้ามาจะเป็นเส้นไหมครับ ?
              " มันเอาแน่นอนไม่ได้นะครับ  มันต้องดู  บางตัวที่เราเห็นดำเงา ๆ ในเนื้อ  บางครั้งมันก็ขึ้นมาเลอะเทอะก็มีบางตัวขึ้นมาเป็นขี้แมลงวันก็มี  มันเปลี่ยนแปลงได้ "


ในรอยยิ้มนี้จะมีใครเคยรู้ลึกซึ้งหรือใคร่ครวญจะรับรู้  ถึงความ
หมายของมัน  โดยนัยอาจจะเป็นยิ้มที่ได้เห็นบรรดานักเลี้ยงปลา
เลือกปลาอย่างมีความสุข   เข้าไปสัมผัสรอยยิ้มนี้สักครั้งสิครับ
บางคุณอาจจะได้พบความหมายที่แท้จริงของมัน   จากหญิงผู้
ผู้ให้กำเนิดวงการปลาคาร์พในเมืองไทย 
คุณสุวรรณี  วิเศษศิริ

          - หากเราเลือกปลาไซด์ประมาณ 15-20 ซ.ม. โอกาสที่ลายดำนั้นจะจบหรือสมบูรณ์แบบจนสุด
  สำหรับปลาตัวนั้นประมาณสักกี่ปีสำหรับโชว่า ?

          " โชว่ามันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางที ไซด์ 4 มันยังเปลี่ยนเลย  ไม่แน่นอน  บางตัวมันก็ขึ้นมาตาม
  ที่เราคาดคะเนไว้เท่ากับเราก็ได้ปลาสวย  อย่างพวกเซียนปลาเขาจะเล่นโชว่าและชิโร่พวกนี้ลายดำจะ
  ขึ้นทีหลัง "
          - หากเราพูดถึงชิโร่ที่ลายดำมันคมชัด ๆ แล้วที่เราเห็นว่าสวยแน่นอน  เซียนปลาเขาจะเล่นหรือ
  ไม่หรือเขาจะเลือกดำลาง ๆในเนื้อ ?

          " ก็ไม่แน่นอน  คือปลาสองอย่างมันจะเป็นปลาปราบเซียน "
          - อยากให้พี่แช่มช่วยแนะนำวิธีเลือกชิโร่ที่ดีว่าควรเลือกอย่างไร ?
          " หากเป็นปลาเล็ก   อันดับแรกต้องดูว่าต่อไปมันจะขาวหรือเปล่า   และดำมันจะขึ้นมาลายแบบ
  ไหน  คือดูแล้วให้มันโปร่ง ๆ หน่อย   อย่างบางทีเราดูว่าลายมันเป็นบั้ง ๆ เราดูว่าวันนี้สวย  แต่ลึก ๆ
  ของข้างในลงไปดำมันจะขึ้นมา  พอมันขึ้นมาทีนี้มันก็จะเป็นปลาทึบไปแล้วก็ไม่สวย  ให้ดูโครงสร้าง
  ดูขาวเข้าว่าดำก็อย่างไปดูดำเยอะ  พอเราเห็นว่ามันเป็น
เงา ๆ ดำอย่างไรมันก็ขึ้นแน่นอน "

       - พี่แช่มยืนยันเลยใช่ไหมครับ ว่าดำที่เป็นลาง ๆ มันจะขึ้นแน่นอน ?
      
" ขึ้นแน่นอนครับ อย่างบางรุ่นมาจะไม่มีดำเลย จะเป็นแบขาวๆ แต่
  ดำจะเป็นเงาๆ อยู่  พออยู่สักอาทิตย์กว่า
ดำเริ่มมาแล้วจะเห็นลายแล้วถ้า
  ตัวไหนที่ดูแล้วแหมวันนี้สวยจัง  พอข้ามไซด์ไปแล้วทีนี้  เอาแล้วดำชัก
  เต็มตัวแล้ว "


บ่อแถวขวามือจะเป็นบ่อของปลาล็อตล่าสุด


ส่วนปลาเก่าจะอยู่ในสองแถวนี้


ภาพปฎิทิน ความทันสมัยเพียงอย่างเดียวของที่นี่


พี่มะลิ  อีกหนึ่งในพนักงานประจำฟาร์มนี้

       - ส่วนปัญหาที่นักเลี้ยงส่วนใหญ่เจอมาว่าชิโร่เลี้ยงไปอย่าง
  ไรมันก็ไม่ขาว ทำไมชิโร่มันถึงอมเหลือง มีวิธีแก้ไหมครับ ?

       "  ก็มีให้เลือกเป็นปลาตัวเมีย   ส่วนมากที่เหลืองมันจะเป็น
  ปลาตัวผู้  อย่างปลาตัวเมียถึงแม้จะเหลือง   มันก็เปลี่ยนไปเป็น
  ทางขาวได้  อย่างชิโร่มันจะปรับสีตามสภาพอากาศ ถ้าอากาศ
  ร้อนมันจะออกเหลือง  มันจะปรับตัวมันให้เข้ากับอุณหภูมิชิโร่
  มันจะเป็นอย่างนั้น  ถ้าอากาศประมาณมาณ 20-25 องศาก็จะ
  ดี แต่อากาศบ้านเรา30 กว่าบางที 40 มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย
  บางทีบ้านเราเย็นมันก็จะขาว   บางอาทิตย์ดูๆ มันก็ขาว   อยู่ๆ
  อยู่ๆ อาทิตย์ต่อมามันก็จะเหลือง  เป็นเพราะบางครั้งมันก็อยู่ที่
  เราให้อาหารด้วย "


บรรยากาศยามพลบค่ำ  ที่ดูจะชินตาของ
เหล่านักล่าปลาคาร์พมากกว่าตอนกลางวัน


ธงที่โบกสะบัดท้าทายดังจะให้รับรู้ว่านี่คือ  
สัญลักษณ์ของการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง

       - หากเป็นปลาไซด์เล็กเห็นลวดลายดี  โครงสร้างดี  ขาวก็ดี  ยกเว้น
  บริเวณหน้าหรือหัวอมเหลือง ควรที่จะซื้อไหมตัวนี้  ถ้าตัวนี้เป็นตัวเมีย
  เมีย พี่แช่มคิดว่าควรซื้อไหม ?

      
" ถ้าเป็นตัวเมียนะ (น้ำเสียงหนักแน่นย้ำว่าเป็นตัวเมีย)  ก็ซื้อได้ส่วน
  มากจะขาวขึ้นอยู่กับเราเลี้ยง  และขึ้น
อยู่กับน้ำด้วย "
       - และเลี้ยงไปเลี้ยงมาทำไมเม็ดแดงถึงเกิดมาล่ะครับ ?
      
" สายพันธุ์มันยังไม่นิ่ง ( ตอบอย่างทันควัน ) และเหมือนกับตัวนี้ไง
  (ชี้ไปที่บ่อที่เก็บปลาไซด์ใหญ่ไว้ และมีชิโร่ว่ายผ่านมาพอดี) ขนาดตอน
  สั่งเขามาใหม่ๆไซด์ 4 แล้ว ไม่มีแดงขึ้นเลยนะ  พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาแดง
  จะขึ้นมาเป็นจุด ๆ "

             - หากแดงขึ้นมาเช่นนี้โอกาสแดงจะหายไปมีไหมครับ ?
             " โอ้ ถ้าขึ้นมาแบบนี้ยาก  ยากเลยครับ  พยายามเลี่ยงอาหารเร่งสี  ชิโร่นี้ไม่ต้องไปเร่งสีให้อาหารที่มันศูนย์เปอร์เซ็นต์จะดีกว่า "
             - หากเราพูดถึงปลาที่มีสี  หากสายพันธุ์มันดีมาตั้งแต่เล็กๆ  แล้วเราไม่เลี้ยงอาหารเร่งสีเลยสีเขาจะจางลงหรือตกลงไหมครับ ?
             " อย่างนี้นะครับ  ปลาสมัยนี้ที่เราสั่งมาใหม่ ๆ ผมถึงบอกตั้งแต่แรกว่าในสมัยก่อนมันไม่มียากระตุ้นสี   มันจะเป็นธรรมชาติและทุกวันนี้มันจะมีการใช้ยากระตุ้น
       สีพอมาบ้านเราสีดีจริงๆ สีสวย   พอมาอยู่บ้านเราบางตัวก็จะสีหลุดไปเลย   มันจะเป็นอย่างนั้น มันให้สารที่เร่งสีมาแล้ว "
             - หากพูดถึงโคฮากุที่บางท่านชื่นชอบนั้น   เวลาเลือกโคฮากุตัวเมียที่เลือกตั้งแต่ยังเล็กๆนั้น   แดงไม่ได้แดงสดมันออกเป็นแดงจืดๆ  หรือแดงส้มจนไซด์ใหญ่ประ
       มาณ 5 ไซด์แล้วแดงก็ยังไม่มีสดอีกยังเป็นแดงอมส้มอยู่  ต่อไปโตกว่านี้มันจะแดงสดไหมครับ ?

             " ไม่แดงครับ   เพราะว่าสายพันธุ์นี้มันจะมีสีแดงและสีแสดหรือสีส้ม   มันจะเป็นอย่างนั้นถ้ามันส้มมันก็ส้มมันก็จะไม่แดงเหมือนเลือดนก "
             - หากให้อาหารเร่งสีจะช่วยได้ไหมครับ ?
             " มันก็เพียงแต่สีสดขึ้นมา   แต่ก็ไม่แดง "
             - นั่นหมายถึงว่า   พี่แช่มฟันธงลงไปว่าควรเลือกปลาที่มีโทนสีเลือดนกตั้งแต่เล็ก ๆ ?
             " หากเราเลือกแดงแบบนี้   เราก็จะได้เปรียบใช่ไหมครับว่าตรงนี้อนาคตดี  ปลาตัวนี้มีอนาคต  สีมันดี  เราก็เลือกซื้อไป "
             - ไม่ใช่ว่าเล็กๆ  เป็นสีออกแสดหรือสีส้มโตขึ้นมาจะแดงอย่าไปหวังอย่างนั้น  ใช่ไหม ?
             " ใช่ ครับ ยาก อย่าไปหวังอย่างนั้น "

             - หากพูดถึงตันโจตามธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องแต่งจะมีแดงที่กลมไหมครับ ?
             " มีครับมี   จะกลมจะคมนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ญี่ปุ่นเขาเก็บเอาไว้เพาะ  ไม่ใช่ตันโจกับตันโจเพาะออกมาจะเป็นตันโจไม่ใช่นะครับ  ส่วนมากจะเป็นโคฮากุ  ลาย
       ห่างๆ  มันก็จะออกมาทั้งโคฮากุทั้งตันโจในคอกนั้น   ถ้าเกิดนำตันโจกับตันโจมาเพาะก็จะออกมาขาวหมดเลย  ไม่มีสีและไม่ใช่เป็นแพ็ตทินั่ม  ขาวหมดเกล็ดไม่เงา "
             - ทำไมประเทศไทยถึงทำปลาไม่ได้เท่ากับปลานอกล่ะครับ ?
             " เป็นเพราะเราไม่ได้คัดสายพันธุ์ที่ดีคือ  พ่อแม่นอกเราก็เอาไปเพาะแต่ทีนี้ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่นอกจริงๆ ที่เขาเอามาขายให้กับเราเขาทำสายพันธุ์จะเป็นอย่างไร  จริง
       แล้วปลาที่เขาทำสายพันธุ์ไว้สำหรับเพาะเขาจะเก็บไว้ต่างหากเลย   เขาจะเก็บไว้เลยไม่ขายครับ   เขาทำของเขาเองเขาจะรู้ไม่ใช่ขั้นตอนเดียวแล้วจะได้เลยไม่ใช่  ไม่
       เช่นนั้นสายพันธุ์จะไม่นิ่งอย่างบ้านเราปลาท้องเราก็จับมาเพาะเลย   มันถึงไม่มีคุณภาพ "
       
      - นั่นหมายถึงหากมีสตางค์เราไปถึงญี่ปุ่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แท้ ๆ ?
             " ใช่ครับคือ  พ่อแม่พันธุ์ที่แท้ ๆ เขาจะเก็บของเขาไว้เลย   เขาจะไม่ขายให้เราหรอก "
             - บ่อที่จะเลี้ยงปลาคาร์พที่จะได้ไซด์ใหญ่ควรจะลึกเท่าใดครับ ?
             " ก็ต้องสองเมตรขึ้นไป   ยิ่งกว้างเท่าใดยิ่งลึกเท่าใดยิ่งดี  ยิ่งใหญ่ยิ่งลึกเท่าใดก็ยิ่งดีครับ  หากเลี้ยงในบ่อแคบและลึกแค่เมตรเดียว  ปลามันจะชลอความโต  นอก
       จากว่าเราไปเจอหัวปลาพวกนี้จะโตเร็วมาก "
             - สำหรับที่นี่มีพ่อค้าปลาเข้ามาบ้างหรือไม่ครับ ?
             " ก็มีครับ  พวกที่สวนจตุจักร  บางคนก็มาซื้อไปขายต่อเขาก็ไปบวกเอา   มันก็เป็นอย่างนั้น "
             - ที่นี่เน้นสายพันธุ์ใดเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ ?
             " ไม่เน้นพิเศษครับ   ปลาหลัก ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการแบบว่าพันธุ์ใดขายดีลูกค้านิยมเล่นก็จะนำเข้ามา   ส่วนมากพวกตันโจ  โคฮากุบ้านเราก็ทำได้ก็เลยสั่งมาน้อย
       ส่วนมากพวกเซียนปลาจะเล่นแต่ชิโร่กับโชว่าก็มีมากหน่อย "
             - อยากให้พี่แช่มฝากถึงนักเลี้ยงบางท่านที่ไม่เคยเปลี่ยนน้ำไม่เคยล้างบ่อกรองเลยตลอดทั้งปี จริงๆ  แล้วมันเป็นอย่างไร ?
             " ควรล้างครับ  ถ้าล้างแล้วมันก็จะได้น้ำใหม่เรื่อยๆ ปลามันก็จะดีขึ้น  สีดีขึ้น "
             - ปกติแล้วควรที่จะล้างประมาณกี่วันต่อการล้างหนึ่งครั้ง ?
             " มันขึ้นอยู่กับว่าเราเลี้ยงปลาเยอะหรือไม่เยอะ   เราก็ต้องดูว่าบ่อขนาดนี้กี่เมตรคูณกี่เมตร   มันโตขึ้นมาอย่าให้มันแน่นเกินไป  มันก็จะไม่เครียด "
            
- ปลาเครียดด้วยหรือครับ ?
             " ใช่สิครับ  พอเครียดมันก็จะเปลี่ยนสี  โดยเฉพาะชิโร่เวลาปลาแน่นไปมันเครียดก็จะออกเหลือง  ส่วนมากอย่างอื่นดูไม่ออกจะดูออกอย่างชิโร่นี่  เพราะว่าชิโร่ไม่
       ชอบอึดอัด   และหากเลี้ยงที่มีน้ำตกก็ยิ่งดี เพราะน้ำตกจะทำให้น้ำมีอากาศปลามันก็จะสดชื่น "
             - หากถ้าเราเลือกปลาที่ดีมีคุณภาพแล้ว  พี่แช่มมีเทคนิคอย่างไรที่จะเลี้ยงปลาตัวนั้นให้ได้ดี ?
             " ก็จะมีอาหารและน้ำด้วย "


จำนวนปลาที่นำเข้าแต่ละครั้งอยู่ในหลัก 1000 ตัว
แต่จำนวนครั้ง ที่นำเข้าในแต่ละปีจะมากกว่าที่อื่น


ตัวแทนในการจัดส่ง  ที่คบหากันมานานนับ
ยี่สิบปี  OPICAL  FISH  CENTER


ปลาที่นี่คืนแรกทุกตัวจะราดาเดียวกันหมด คือ 4000
บาท ไม่มีการคัดปลาสวยขายอีกราคาหนึ่งเหมือนที่อื่น

            - ผมอยากให้พี่แช่มฝากข้อคิดเล็กๆ  น้อยๆ  สำหรับผู้ที่
       เริ่มเลี้ยงมือใหม่   ซึ่งในช่วงหลัง  วงการปลาคาร์พเหมือน
       กับที่เรียกว่า  ปลุกผีขึ้นมาอีกรอบหนึ่งก็ว่าได้   อยากจะฝาก
       อะไรถึงน้อง ๆ ที่เพิ่งคิดที่จะเลี้ยงปลาบ้างครับ ?

          " เราต้องเห็นรูปร่างมาก่อน  และก็ดูสีอย่างที่กล่าวมาจึง
       ค่อยมาดูลวดลาย ก็ต้องดูเป็น  ก็ต้องมีประสบการณ์เล่นไป
       เรื่อย ๆ ถึงจะรู้       ไม่ใช่มาดูทีเดียวแล้วจะเก่งเลย "


มารูเต็งซันเก้  ตัวนี้เคยเป็นดาวเด่นของที่
นี่  ปัจจุบันได้ไปอยู่ในบ่อนักเลี้ยงปลาแล้ว


ชิโร่  ตัวที่พี่แช่มกล่าวว่ามีสีแดงเกิดขึ้นภายหลัง


กระดานที่เก่าคร่ำคร่านี้   อาจจะมีอายุขัยมากกว่านักเลี้ยงปลาบางท่าน   ที่ซึ่งเจ๊ณี
ได้ฝากรอยเท้ามานานนับชั่วนาตาปี  เป็นรอยเท้าที่ฝังรากลึก  เป็นรอยเท้าแห่งการ
สร้างสรร  เป็นรอยเท้าแห่งก่อกำเนิดวงการปลาคาร์พในบ้านเรา   กระดานเก่าให้
ให้มุมมองในความรู้สึกอ้างว้าง   และในความรู้สึกนี้เอง  ได้ก่อเกิดคำถามในใจว่า
จะมีรอยเท้าของนักเลี้ยปลารุ่นใหม่  สักกี่รอยกันหนอ...  ที่จะเหยียบย่ำซ้ำรอยเท้า
ลงไป  ให้ฝังเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อชั่วกาลนาน   ตำตอบอยู่ที่ตัวคุณเอง....
 

                    ทางชมรม TJFC  กราบขอบคุณทางฟาร์มเจ๊ณี  ที่มอบความรู้
       และความเป็นกันเองในการสัมภาษณ์ในครั้งนี้   และอยากให้ Koi lover
       ได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศ  ที่มีมนต์ขลังและสุดคลาสิค   รวมทั้งเลือก
       เลือกหาปลาตัวโปรดในราคามิตรภาพ   ที่ทุกท่านไขว้คว้าเป็นเจ้าของกัน
       ได้  และคำว่าฟาร์มปลาคาร์พแห่งแรกของประเทศไทย  คงจะเป็นเครื่อง
       พิสูจน์ได้ในเรื่องความซื่อสัตย์    คุณภาพและราคาได้เป็นอย่างดี   ซึ่งยืน
       หยัดและอยู่คู่กับ Koi lover มานานนับยี่สิบปี
           
       ขอขอบคุณ : คุณสุวรรณี ,พี่แช่ม,พี่มะลิ แห่งฟาร์มเจ๊ณี
       เรื่องโดย : Mr.koi@CNN
       ภาพโดย : นายรัน koitoday.com 

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser พบข้อผิดพลาด - ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม โทร 01-4598555 นายรัน >>>