อาซากิ  ( Asagi )  นางฟ้าหุ้มตาข่าย
        ก่อนหน้านั้น ผมได้นำเอาปลาคาร์พมาชำเรา เอ๊ย..ชำแหละตีแผ่ให้แฟนๆ ได้เห็นตับไตใส้พุงยันกระ
พุ้งก้น มาแล้วทั้งหมดก็ 4 ประเภท  อันมี 1.ราชันย์ขาวแดง โคฮากุ 2.เทพบุตรจุดดำ ซันเก้ 3.ราชาหน้า
สามสี โชว่า 4.จักรพรรดิลายดำ อูจึริโมโน ทั้งสี่นี้จัดอยู่ในกลุ่ม  สี่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งปลาคาร์พ  คราวนี้มาว่า
กันต่อในกลุ่ม อาซากิ ซึ่งมี 4 ประเภทเหมือนกัน ประกอบด้วย 1.อาซากิ 2.ซูซุย 3.โกโรโมะ 4.โงชิกิ
          เพื่อไม่ให้เป็นการเยิ่นเย้อกระบวนความ  ขอนำผู้อ่านที่เคารพเข้ามาทำความรู้จักกับเจ้าอาซากินาง
ฟ้าหุ้มตาข่าย  หนึ่งในสี่ของกลุ่ม  ด้วยว่าอาซากิเป็นปลาที่สำคัญและมีบทบาทมากในกลุ่ม  เราจึงควรทำ
ความรู้จักกับมันก่อนครับ
          อันดับแรก  สงสัยไหมครับว่าทำไมถึงเอาชื่อ " อาซากิ " มาเป็นชื่อเรียกปลาคาร์พกลุ่มนี้
          อ่ะ..เป็นคำถามที่ดี  ตำตอบมีอย่างนี้ครับ ปลาคาร์พอื่นๆในกลุ่มนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ซูซุย,โกโร
โมะ,โงชิกิ  โดยต้นกำเนิดเทือกเถาเหล่ากอดั้งเดิมของมัน  ล้วนแต่สืบสายพันธุ์มาจากอาซากิ  เป็นลูกผสม
ของอาซากิ  เป็นปลาที่ถือกำเนิดมาจากอาซากิ  ถ้าเปรียบเป็นผู้ชายเจ้าอาซากิจัดเป็นจอมเจ้าชู้ตัวฉกาจ  ดู
ท่าทางแล้วมันเป็นพวกลุยดะฉะไม่เลือก  สาวๆ ไม่ควรอยู่ใกล้  ฉะนั้นอย่างที่บอก  ในเมื่อปลาทั้งหมดใน
กลุ่มล้วนสืบสายพันธุ์มาจากอาซากิ   ก็เลยเรียกปลากลุ่มนี้ว่ากลุ่ม" อาซากิ"  เรื่องของเรื่องมันก็มีที่มาที่ไป
ง่ายๆ ตื้นๆ ไม่ลึกลับซับซ้อนดังฉะนี้แล
          มีคำพูดว่า " อาซากิ เป็นปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์ " หมายความว่าอย่างไรเอ่ย
          คงพอได้ยินกันมาบ้างนะครับ  ที่ว่าอาซากิเป็นปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์   ต่างกับปลาคาร์พประ
เภทอื่น   เพราะว่าปลาคาร์พเกือบทุกประเภท  ที่มีลวดลายวิจิตรพิศดารปานผีวาด  อย่างที่เราเห็นกันอยู่
นี้  โดยแท้ที่จริงแล้วที่ไปที่มาของมัน  เกิดจากการผสมข้ามกันไปไขว้กันมา  ระหว่างปลาคาร์พประเภท
ต่างๆ ด้วยกัน  บางประเภทผสมข้ามไปข้ามมาสี่ห้าร้อยตลบ  กว่าจะออกมาเป็นอย่างที่เห็น
        ยกตัวอย่างให้ดูตัวนึง  เจ้าราชันย์ขาวแดง โคฮากุนี่แหละ  กว่าที่จะมาเป็นปลาที่มีฮิแพทเทินส์  มีชิ
โรจิ  อย่างทุกวันนี้   มันเริ่มต้นจากการผ่าเหล่าผ่ากอของปลาคาร์พสีกระดำกระด่างเหมือนขี้หมา  แล้วก็
ถูกนำไปไขว้กับปลาสีแดง,สีขาว,สีดำ,สีดำแก้มแดง,แดงจุดดำ  และอะไรต่อมิอะไรอีกบานเบอะ  เห็นมั้ย
ล่ะว่ากว่าจะมาเป็นปลาขาวแดง  ที่ไปที่มาของมันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าที่คิด  ดีนะที่มันผสมข้ามกัน
ไปไขว้กันมาระหว่างปลาคาร์พด้วยกัน  ถ้าเกิดไปผสมกับหมากับนก  ป่านนี้คงได้เห็นปลาคาร์พเห่าโฮ้งๆ
หรือไม่ก็คงได้เห็นปลาคาร์พบินได้กันมั่งล่ะครับท่านผู้
        แต่สำหรับเจ้าอาซากินั้นไม่เหมือนกับที่กล่าวมา  รายนี้เค้ามาแบบแปลกแหวกแนว  แต่เป็นแนวทื่อๆ
คือโดยดั้งเดิมแล้ว  เค้าเป็นปลาคาร์พโบร่ำโบราณ   ผู้สันทัดกรณีสันณิฐานว่ามันถือกำเนิดผ่าเหล่ามาจาก
มากอยโดยตรง ( มากอย  เป็นปลาคาร์พยุคแรกที่ผ่าเหล่ามาจากปลาไนสีดำ ) รูปลักษณ์ของอาซากิ  ที่ผ่า
เหล่ามาจากมากอยในยุคแรก   กับอาซากิยุคนี้ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก   ยังรักษารูปแบบเดิมของมันไว้
อย่างคงเส้นคงวา  ฟังเค้าว่ามาอีกทีนะครับ  จริงเท็จประการใดไม่อาจรู้เพราะว่าเกิดไม่ทัน ที่มีแตกต่าง
ไปจากเดิมบ้างก็เป็นความสวยงาม   เพราะว่าได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดูดีดูจ๊าบอย่างต่อเนื่อง  เหมือน
กับปลาคาร์พทุกประเภท  ที่ถูกพัฒนาให้สวยขึ้นอยู่ตลอดเวลาจวบจนทุกวันนี้
          ถึงตอนนี้คงเข้าใจกับคำกล่าวที่ว่า  อาซากิเป็นปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์นะครับ  ว่ามันเป็นปลาที่
่ไม่ได้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ไปมา  อย่างปลาคาร์พประเภทอื่น  สายพันธุ์ของมันคือการกำเนิดมากอย
และผ่าเหล่าอย่างต่อเนื่องโดยตัวมันเอง  รูปแบบของมันก็คือรูปแบบเริ่มแรกที่ผ่าเหล่ามาจากมากอย  และ
ก็ยังดำรงค์คงอยู่มาอยู่ถึงทุกวันนี้   ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก
          - รูปลักษณ์ของอาซากิ ที่ปรากฏในยุคแรกเริ่มจวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน
          จากในบันทึกได้ได้กล่าวไว้ว่า  ได้มีการพบเห็นอาซากิมานานกว่า 160 ปี ปัจจุบันนี้ก็ร่วมสองร้อย
ปีแล้วมั้ง  เชื่อกันว่าคนแรกที่พบเห็นอาซากิ  ตายไปแล้วเกิดใหม่สองรอบแล้ว แฮ่ะๆ พูดเล่น  อย่าซีเรียส
ดูจากระยะเวลาผมเดาเอาเองว่า น่าจะอยู่ในช่วงที่มีการผ่าเหล่า ( Mutant ) ของปลาคาร์พสีดำที่ให้กำ
เนิดโคฮากุในชั้นต้นโน่นแน่ะ  อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่ามีการเดา เอ๊ย..สันนิษฐานว่า อาซากิเกิดจากการผ่า
เหล่าของมากอย  ว่ากันว่ารูปแบบของการผ่าเหล่าในชั้นต้นนั้น  ได้ถือกำเนิดมากอยสีเทาดำที่มีหัวเป็นสี
ขาว ( หัวไม่มีสี ) ขึ้นมา  และต่อเนื่องมาอีกก็ได้กำเนิดกลายเป็นปลาหัวขาวที่มีโทนสีอ่อนจางลง  มองดู
เป็นโทนสีฟ้าอมเทา  และต่อเนื่องมาจนถึงที่สุด  ที่มีความใกล้เคียงความเป็นอาซากิยุคปัจจุบันเข้าไปอีก
คือ  ลักษณะสีของเกล็ดจะมีสีเข้มที่กลางเกล็ด  รอบนอกเกล็ดจะมีสีอ่อนกว่า  ด้วยลักษณะของเกล็ดอย่าง
นี้ทำให้มองดูคล้ายเหมือนมีตาข่ายร่างแหมาห่อคลุมตัวปลาไว้
          มาถึงตรงนี้ผมเพิ่งนึกได้ถึงฉายาที่ผมตั้งให้กับอาซากิว่า นางฟ้าหุ้มตาข่าย  มันก็มีที่มาจากโทนสี
ฟ้าเทากับร่างแหตาข่ายที่ตัวปลานี่แหละครับ  อ้อ..อีกเรื่องที่ผมลืมบอก "อาซากิ" ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง
สีฟ้าอ่อน ชื่อ อาซากิ คงตั้งมาจากสีฟ้าที่ปรากฏบนตัวปลา ขอขยายความทำความเข้าใจเรื่องสีฟ้าของอา
ซากิหน่อยครับ  ตามชื่อหมายถึงปลาสีฟ้าอ่อน  แต่ใครจะมองเป็นสีอะไรก็แล้วแต่นะครับ  อย่าไปซีเรียส
เดี๋ยวจะมาแย้งว่า  อะไรไม่เห็นเป็นสีฟ้าเลย  ดูจากรูปประกอบเอาเองครับ จะมองเป็นสีฟ้า,สีเขียว,สีม่วง
ก็แล้วแต่สายตาท่านเถอะ  แต่ในเบื้องต้นผมขอใช้คำว่า สีฟ้าอมเทา ไปก่อนแล้วกัน
          มาว่ากันต่อเรื่องการผ่าเหล่าของอาซากิครั้งสำคัญ   นั่นคือการถือกำเนิดของอาซากิที่แก้มมีสีแดง
ลักษณะการผ่าเหล่าที่มีการเกิดสีแดงที่แก้ม  ถ้าจำกันได้เหมือนกันกับโคฮากุนะครับ  ในชั้นแรกโคฮากุก็
ถือกำเนิดมาจากปลาคาร์พสีดำ  ที่มีแก้มสีแดงเช่นกัน  อาจจะเป็นไปได้ที่ว่าการเกิดสีแดงที่แก้ม  เป็นพื้น
ฐานการผ่าเหล่าของปลาคาร์พสีดำ  อันนี้ผมสันนิษฐานเอาเองนะครับ  ในตำราไม่มีบอก  ฉะนั้นอย่าเชื่อ
ผมมาก  ฟังหูไว้หู
          รูปแบบอาซากิที่พบเห็นทุกวันนี้  จะว่าไปก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก  จะมีก็ในส่วนของสีแดง
จากเริ่มแรกสีแดงจะพบเห็นได้มากตรงบริเวณแก้ม  จากสาวน้อยแก้มแดงในวันนั้น ปัจจุบันนี้อาซากิจะมี
สีแดง ตั้งแต่แก้ม ครีบอก บริเวณใต้ท้องด้านข้างลำตัวยาวลอดไปจนถึงโคนหาง  และบางตัวยังมีสีแดง
ที่ครีบหลังด้วย   สีแดงที่กล่าวนี้เป็นอะไรที่สร้างความสวยงามให้กับอาซากิเป็นอย่างมาก   และก็เป็นอะ
ไรที่สร้างปัญหาให้กับนักเลี้ยงเป็นอย่างมากเช่นกัน  ส่วนที่ว่าสร้างปัญหาอะไรนั้น  เอาไว้ว่ากันในหัวข้อ
การเลือก  ตอนนี้รู้ไว้แต่เพียงว่าสีแดงที่ว่านี้เป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาซากิ
           ลักษณะเด่นของอาซากิในยุคปัจจุบันอีกอย่างนึง  เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก  ถึงขั้น
ต้องซีเรียสแบบสุดๆ ก็คือ ฟูกูริน  คำนี้ท่องให้ขึ้นใจเลยนะครับมันมีบทบาทมากๆ สำหรับอาซากิ  ฟูกูริน
ในความหมายของปลาคาร์พ  คือเนื้อเยื่อที่คลุมระหว่างเกล็ด  ถ้าแปลกันตรงๆ ฟูกูริน  ก็คือเกล็ดตาข่าย
หรือเกล็ดร่างแห  นักเลี้ยงบ้านเราเรียกว่า"ตาข่าย" แต่บางท่านก็เรียกทับศัพท์ไปเลยว่าฟูกูริน  สาเหตุที่
เรียกว่าเกล็ดตาข่าย  ก็ด้วยว่ารูปลักษณ์ของเจ้าเนื้อเยื่อที่ขึ้นครอบเกล็ด  แต่ละเกล็ดอย่างต่อเนื่องกัน  ประ
กอบมันมีสีที่อ่อนกว่าสีของเกล็ด  มันก็เลยมองเหมือนมีตาข่ายมาห่อหุ้มตัวปลา  ฟูกูรินเป็นลักษณะที่สืบ
ทอดมาจากปลาคาร์พมากอยดั้งเดิม  ถ้าอ่านเรื่องซันเก้มาก่อนหน้า  คงจำได้ว่าผมเคยกล่าวถึงซันเก้ของ
ของฟาร์มมัตซึโนสุเกะ  ซันเก้ของฟาร์มนี้จะมีฟูกูรินเหมือนกัน  ก็เพราะว่าเขาเอาไปบรีดร่วมกับมากอย
นี่แหละครับ
          อาซากิที่พบเห็นในยุคก่อนฟูกูรินจะยังไม่โดดเด่นมองเห็นชัดเจน  เท่ากับอาซากิยุคปัจจุบันนี้ หรือ
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีเลยก็ได้   เกล็ดจะดูเหมือนกับเกล็ดปลาคาร์พทั่วไป   ที่พอจะมองดูเป็นเหมือนร่างแห
นั้นเกิดจากความต่างของขอบเกล็ดที่สีอ่อนกว่าสีภายในเกล็ด  ฟูกูรินถือเป็นจุดขายของอาซากิ  เป็นเรื่อง
สำคัญเป็นเรื่องซีเรียส  ฟาร์มที่ทำการผลิตอาซากิต่างก็พยายามพัฒนาเรื่องฟูกูรินให้ดีที่สุด  ถ้าเพาะออก
มาแล้วไม่มีฟูกูริน  บอกได้คำเดียวว่า เซ็งมะก้องด้อง..
          ชนิดย่อยของอาซากิ
         โดยดั้งเดิมไม่มีการแบ่งแยกชนิดของอาซากิ  อาซากิจะเป็นชื่อเรียกปลาที่มีโทนสีฟ้าอมเทา ดำหรือ
น้ำเงิน ตามมุมมองของแต่ละคน  มีเกล็ดเนื้อเยื่อฟูกูริน  มีสีแดงที่ข้างแก้มข้างลำตัวตลอดไปจนถึงหาง ที่
ครีบอก  สีแดงที่ครีบอก มีชื่อเรียกว่าหลายชื่อ เช่น โมโตอะกา,โมโตฮิ,ซูซุยเบเระ,ซูซุยฮิเระ ผมขอเรียกว่า
โมโตอะกา นะครับมันดูคล้องกันดีกับ โมโตกูโร่ สีดำที่ครีบอกของปลาอูจึริโม   อาซากิบางตัวก็มีสีแดงที่
ครีบหลังด้วย  แต่ในยุคที่มีการพัฒนาสายพันธุ์อาซากิอย่างมากนั้น  ก็มีส่วนแตกต่างของอาซากิบางอย่าง
ให้เห็น  เช่นบางตัวก็มีสีอ่อน สีเข้ม บางตัวมีฟูกูรินเล็ก บางตัวฟูกูรินใหญ่ หรือบางตัวมีฟูกูริน บางตัวไม่
มี สันนิษฐานโดยเบื้องต้นว่า  เกิดจากอาซากิที่ถือกำเนิดมาจากมากอยต่างชนิดกัน  ซึ่งแม้แต่มากอยยุคแรก
ที่ผ่าเหล่ามาจากปลาไนสีดำเอง  ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของสีสันและรูปแบบ  มากอยที่รู้จักกันในยุค
แรกนั้นแบ่งหลักๆ ออกเป็นสามชนิด คือ เทสึมากอย,โดโระมากอย,อาซากิมากอย อาซากิที่สืบสายพันธุ์ต่อ
เนื่องมาจากมากอยต่างชนิด  จึงมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย  เท่าที่มีการพูดถึงกันก็มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด
คือ
          คอนโจอาซากิ บางท่านเรียกคอนโจ้  เป็นชื่อเรียกอาซากิที่มีฟูกูรินขนาดเล็ก ผมหมายถึงเส้นตาข่าย
รอบเกล็ดจะเส้นเล็ก  หรือจะพูดอีกแง่มุมนึงก็คือ  คอนโจอาซากิเป็นปลาที่มีสีดำภายในเกล็ดใหญ่เกือบเต็ม
เกล็ด  ทำให้ฟูกูรินดูมีขนาดเล็ก  ด้วยลักษณะสีดำเกือบเต็มเกล็ด  ฟูกูรินขนาดเล็กจึงทำให้อาซากิชนิดนี้มี
สีเข้มจัดกว่าอาซากิชนิดอื่นๆ บางท่านให้คำนิยามคอนโจอาซากิว่าเป็นอาซากิที่มีสีน้ำเงินเข้ม  เรื่องสีแล้ว
แต่มุมมองของแต่ละคนนะครับบางอย่าไปซีเรียส  มีการกล่าวถึงต้นกำเนิดของคอนโจ้ว่า  เป็นอาซากิที่สืบ
สายมาทาง เทสึมากอย  จะจริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบได้จำขี้ปากเขามาพูดครับ
          นารูมิอาซากิ ชื่อนี้มีที่มาจากคำว่า นารูมิ ชิโบริ  เป็นผ้าชนิดหนึ่งผลิตกันมากในเมืองนารูมิ จังหวัด
หวัดไอชิ  คือเขาเปรียบเทียบว่า โทนสี และลวดลายตาข่ายอาซากิที่กำลังกล่าวถึง  มองดูเหมือนกับผ้าชนิด
นี้  ก็เรียกชื่อตามนั้น  ข้อแตกต่างระหว่างนารูมิกับคอนโจ จะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกัน  คอนโจฟูกูรินเล็กนา
รูมิฟูกูรินจะใหญ่กว่า คอนโจ้สีเข้มส่วนนารูมิสีจะอ่อนกว่า  สาเหตุที่ที่นารูมิมีสีอ่อนก็เพราะว่าสีดำที่เกล็ด
มีขนาดเล็กนั่นเองครับ  ทำให้ดูรวมๆ แล้วสีจะดูอ่อน และขณะเดียวกันก็จะทำให้ฟูกูรินดูใหญ่ตามไปด้วย
          มิโซอาซากิ บางท่านเรียก มิซู,มิสุ อย่างเดียวกันแต่ต่างกันที่สำเนียง  นอกจากจะเรียกว่ามิโซแล้วยัง
มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า อาเกบิ  นักเลี้ยงบ้านเราเรียกติดปากว่า อากาบิ   เจ้าอากาบิหรือมิโซ  หมายถึงอาซากิที่มี
โทนสีอ่อนมาก  อ่อนกว่าคอนโจ้และนารูมิอีก  เรียกว่าอ่อนจืดจาง  อ่อนจืดชืดจืด  แบบแกงจืดไม่ใส่น้ำปลา
ทำนองนั้น  มิโซอาซากิจะมีทั้งแบบที่มีฟูกูรินใหญ่เหมือนนารูมิ  และแบบฟูกูรินเล็กแบบคอนโจ  แต่ที่พบ
เห็นได้บ่อยมากพอๆ กับปลาช่อนในตลาดสด  จะเป็นแบบที่มีฟูกูรินใหญ่สไตล์นารูมิ  ถ้าพูดย้อนกลับไป  ก็
ต้องบอกว่าเพราะว่าฟูกูรินมันใหญ่  มันจึงทำให้ปลามีโทนสีจางอ่อน  แต่จะว่าไปอีกทีถึงแม้ว่าจะเป็นมิโซ
ที่มีฟูกูรินเล็กสไตล์คอนโจ   แต่ถ้าสีดำหรือสีฟ้าในเกล็ดมีน้อยหรือสีอ่อนมาก  มันก็ทำให้กลายเป็นปลาที่มี
สีอ่อนจางก็เรียกมิโซอาซากิเหมือนกัน  สรุปรวบยอดแล้วมิโซอาซากิเค้าดูจากโทนสีโดยรวม ไม่ใช่ดูจากฟู
กูรินครับ
          เรื่องสำคัญที่ผมอยากจะกราบแทบเท้าเรียนให้ทราบคือ  นักเลี้ยงในบ้านเรามักจะเข้าใจไขว้เขว เป๋
ไม่ตรงทาง  จะเนื่องด้วยเจตนา  หรือว่ามึนส์โดยธรรมชาติก็อยากที่จะเดาได้  คือชอบแกล้งเข้าใจว่ามิโซ
อาซากิ  คืออาซากิที่มีสีขาวล้วน  ไม่มีสีแดงปรากฏให้เห็น  อาซากิที่ไม่มีสีแดงเลยไม่ว่าจะที่แก้ม ที่ครีบที่
ใต้ท้องข้างลำตัว ที่ครีบหลัง  ถือว่าเป็นการผิดลักษณะของอาซากิที่ดี  อาซากิขาวล้วนๆ อย่างที่ว่าถือเป็น
ปลาด้อย  การเพาะอาซากิแต่ละครั้งในครอกๆ นึงจะมีปลาอย่างนี้เยอะครับ  จะเป็นปลาที่ถูกคัดทิ้งเสียตั้ง
แต่แรกด้วยซ้ำ  มันไม่ใช่ปลาวิเศษวิโสอย่างที่คิด  อาจจะเคยมีอาซากิที่ไม่มีสีแดงเลย ประกวดแล้วได้ราง
วัลได้รางวัล  นั่นเป็นบางตัวหนึ่งในล้านเท่านั้น  จะเอามาเป็นบรรทัดฐานอะไรไม่ได้  อาจจะด้วยว่าเจ้าตัว
นั้น  มีตาข่ายสวยงามเป็นพิเศษ  หรืออาเป็นเพราะว่าในงานนั้นมีมันเข้าร่วมชิงชัยอยู่ตัวเดียวก็ไม่รู้ แฮ่ะๆ
เน้นย้ำอีกครั้ง  อาซากิที่ไม่มีแพทเทินส์สีแดงถือว่าผิดกฏกติกามารยาทของอาซากิที่ดีครับ
          ทาคิอาซากิ อันนี้อธิบายไม่ยาก  หมายถึงอาซากิที่มีแถบสีขาว  คั่นกลางระหว่างสันหลังกับใต้ท้อง
ที่จริงถ้าบอกว่าคั่นกลางระหว่างตาข่ายฟูกูรินกับสีแดง  น่าจะนึกภาพออกได้ง่ายกว่านะครับ  แต่ถ้านึกไม่
ออกก็ไม่เป็นไร   ดูจากภาพวาดที่ผมนำมาประกอบ   เห็นมั้ยครับจากสันหลังลงมาถึงกลางตัวจะมีเหมือน
แถบสีขาวมันคั่นกลาง  ก่อนที่จะไปถึงสีแดงข้างลำตัวและใต้ท้อง  ขอแจงสี่เบี้ยเรื่องเจ้าแถบสีขาวนี้อีกนิด
ที่จริงแล้วมันไม่ใช่แถบสีขาวสีเขียวอะไรมาจากไหนกรอกครับ  มันก็ไอ้แค่ตรงส่วนที่มีฟูกูรินและสีเทาฟ้า
น้อยกว่าตรงสันหลังเท่านั้นเอง
         รูปแบบของทาคิอาซากิก็คือ   อาซากิที่มีเกล็ดตาข่ายฟูกูรินตั้งแต่ส่วนบนสันหลังชัดเจน   จนมาถึง
กลางลำตัวก็จะจางลงไป  เช่นเดียวกับโทนสีฟ้าเทาส่วนบนสันหลังจะเข้ม  และจะอ่อนลงที่กลางตัวก่อนที่
จะถึงแถบสีแดง  มันจึงทำให้เหมือนมีสีขาวมาคั่นอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น  ย้อนยุคกลับไปอาซากิในยุคแรก
ที่พบเห็นที่เกิดจากการผ่าหล่าโดยธรรมชาติ  จะมีเกล็ดสม่ำเสมอตั้งแต่สันหลังจนถึงใต้ท้อง  ฟูกูรินไม่ได้
ชัดเจนอย่างกับอาซากิในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นอาซากิที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดูสวยงามมากกว่าแต่ก่อน
          อาซากิในยุคนี้ก็คืออาซากิที่คงรูปแบบของทาคิอาซากิ  โทนสีเข้มด้านบน กลางตัวสีอ่อน  มีสีแดงที่
ข้างลำตัวและใต้ท้อง เป็นแนวยาวตั้งแต่แก้มถึงโคนหาง  ครีบอกมีสีแดง  บางตัวก็มีสีแดงที่ครีบหลังด้วย
เท่าที่ทราบมาในประเทศญี่ปุ่นฟาร์มที่ทำการเพาะอาซากิ  ก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าต้องเป็นอาซากิสายโน้นสาย
นี้ทั้งหมดทั้งสิ้นจะมาในแนวทางเดียวคือ  ทำอย่างไรที่จะให้ตาข่ายฟูกูรินโดดเด่นคมชัด  ตัดกับสีฟ้าเทา
ให้มากที่สุด  และก็ให้สีแดงมีในส่วนที่ควรมีไม่ขึ้นเลอะเปรอะเปื้อนไปหมด  <<End>>

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser  พบข้อผิดพลาด - ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม  โทร 01-4598555 นายรัน >>>