ตีพิมพ์ในนิตยสาร Aqua ฉบับที่ 33 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2548
       
ซูซุย  ( Shusui )
        พูดไปจะเชื่อมั้ยเนี่ยว่า AQUA ฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้  กระผมเขียนต้นฉบับอยู่ท่ามกลางสายลมหนาว
แบบสุดๆ อุณหภูมิประมาณ 4 องศา บนดอยอ่างขาง  แอบหนีมาเที่ยวหอบงานมาทำด้วย ตอนนี้เป็นเดือนธันวา
คม 2547 จ้ำจี้มะเขือเปาะดูแล้วปรากฏว่าต้นฉบับนี้  น่าจะลงตีพิมพ์เดือนพฤษภาคม 2548 ห่างกันเกือบครึ่งปี
จากหนาวสู่ร้อน  ไม่รู้ว่ามีฝนตกด้วยหรือปล่าว  อ่ะ..ถ้ามีก็ต้องเรียกว่าต้นฉบับสามฤดู
        เอาล่ะครับไม่อยากทักทายให้เยิ่นเย้อ  มาเข้าเรื่องปลาคาร์พของเราดีกว่า  ปลาในกลุ่ม“อาซากิ”ประเภทต่อ
ไปที่นำมาเสนอนี้  มีนามกรตามท้องเรื่องว่า “ซูซุย” หรือบางท่านเรียกว่า “ชูซุย” ก็ไม่ว่ากัน  เอากันตามถนัดปาก
ครับ
        เจ้าชูหรือซูซุยจัดเป็นฝาแฝด  พี่น้องท้องเดียวกันกับเจ้าอาซากิ  ทำไมถึงถึงพูดอย่างนั้นล่ะ?  สาเหตุเพราะ
ว่ามันทั้งสอง  มีรูปแบบลักษณะหลายๆ อย่าง  ละม้ายคล้ายคลึงใกล้เคียงกันมากๆ สิ่งที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว
ระหว่างอาซากิกับซูซุย  ที่มองเห็นจากภายนอกคืออาซากิที่มีเกล็ดทั้งตัว  ส่วนซูซุยมีเกล็ดบางส่วน  ตรงบริเวณ
สันหลังกับบริเวณข้างลำตัว  พี่ไทยเรียกทับศัพท์กันว่า ด๊อยส์ ( Doitsu )
        ก่อนที่จะกล่าวซูซุยในเรื่องต่างๆ ผมขอพาท่านผู้อ่านเข้ามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาเสียก่อน
       
- ที่ไปที่มา ต้นกำเนิดของ ซูซุย
        ตามบันทึกปลาคาร์พที่ผมไปเสาะหามานี้  ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นไปเป็นมามาของเจ้านี่ไว้ว่า ซูซุยตัว
แรกที่ถือกำเนิดลืมตามมาดูโลกบูดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้  เกิดมาจากฝีมือการเพาะพันธุ์ของท่าน  ศาสตราจารย์คิชิโกโร่
อากิยาม่า  แห่งสถาบันประมงแห่งชาติญี่ปุ่น
        ท่านศาสตราจารย์คิชิโกโร่ผู้นี้  เป็นผู้ที่ให้กำเนิดซูซุยด้วยตัวของท่านเอง แฮ่ะๆ พูดเล่นครับ  ขืนเป็นอย่าง
นั้นจริงอุบาทว์ตายชัก   ท่านได้ทำการเพาะพันธุ์มันขึ้นมาด้วยหนึ่งสมองกับสองมือ   บวกความเฮงอีกนิดหน่อย
วิธีการนั้นไม่ได้พิสดารพันลึกเกินนึกเกินจินตนาการ  ท่านเพียงแค่นำเอาปลาคาร์พต่างประเภท  ระหว่างอาซากิ
ข้ามห้วยมาผสมกับปลาคาร์พสายพันธุ์เยอรมัน  ที่นักเลี้ยงบ้านเราเรียกว่า " ด๊อยส์"  ญี่ปุ่นออกเสียงกว่า  ด๊อยสุ
หรือ ด๊อยสึ ประมาณนี้
        ผลของการโรมรันพันตู  ระหว่างลูกหลานฮิตเลอร์กับลูกพระอาทิตย์ในครั้งนั้น ได้ถือกำเนิดปลาคาร์พสาย
พันธุ์ใหม่เอี่ยมอ่อง  ถอดแบบลอกเลียนจากปลาที่ให้กำเนิดมันทั้งสองมาอย่างละครึ่ง   ส่วนนึงนั้นคงไว้ซึ่งความ
เป็นปลาด๊อยส์  คือมีเกล็ดเฉพาะที่สันหลังกับบริเวณข้างลำตัวเท่านั้น   ส่วนสีฟ้าอมเทาและลวดลายสีแดง  ถอด
แบบมาจากอาซากิเป๊ะเด๊ะเลยละครับ  ท่านผู้อ่านที่เคารพ
       
- รูปแบบลักษณะทั่วไป ของเจ้าซูซุย
        รูปแบบลักษณะเด่นๆ ที่มองปุ๊บเป็นอันรู้ปั๊บว่านี่คือเจ้าซูซุย   สิ่งแรกที่ต้องกล่าวถึงคือ   ซูซุยเป็นปลาอาภัพ
เกล็ด   ไม่ได้มีเกล็ดห่อ หุ้มเต็มตัวเหมือนดังปลาคาร์พทั่วไป   เกล็ดที่ปรากฏบนเรือนร่างนั้นช่างหรอมแหรมจิ๊บ
จ๊อยน้อยเสียเหลือเกิน   เปรียบประดุจดั่งยาจกผู้อาภัพอับโชคยากไร้อาภรณ์ห่อเรือนกาย   หรือไม่ก็บุรุษหัวล้าน
ล้านกระบาลใสไร้เกศาปกคลุม    อีกทั้งเกล็ดที่มีอยู่อย่างกระจ้อยร่อย   ดันยังผ่าเหล่าผ่ากอแปลกประหลาดพิลึก
กึกกือ  ไม่เหมือนกับชาวบ้านชาวช่องเค้า อีก  อา..ช่างอาภัพซ้ำซากซ้ำซ้อนอะไรเช่นนี้
        เกล็ดอันประหลาดพิศดารนี้   เป็นมรดกตกทอดที่มันได้รับมาจากจากปลาด๊อยส์อย่างที่กล่าวมา  อ่ะ..เกือบ
ลืมพูดถึงลักษณะเกล็ดของปลาด๊อยส์  โดยหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 รูปแบบ  1.มีเฉพาะที่สันหลังกับข้างลำตัว 2.ไม่มี
เลยหรือมีก็น้อยมากถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็น  เหมือนกับปลาดุกปลาไหลประมาณนั้น
        ซูซุยเป็นปลาด๊อยส์ที่มีเกล็ดเฉพาะที่สันหลังกับที่ข้างลำตัว  เกล็ดที่สันหลังเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เป็นสิ่ง
ที่ทำให้ซูซุยโดดเด่น  แปลกแหวกแนวกิ๊บเก๋ไฉไลพราวเสน่ห์แปลกตากว่าปลาคาร์พอื่นๆ ฉะนั้นจึงต้องให้ความ
คัญกับเกล็ดสันหลังนี้เป็นพิเศษ   โดยทั่วไปเกล็ดที่สันหลังจะมีสองแถวซ้ายขวา  เรียงชิดติดกันเป็นคู่ๆ โดยเริ่ม
ต้นตั้งแต่โคนหัวไปจนถึงโคนหาง
        ลักษณะเกล็ดสันหลังที่ดีของซูซุย  เกล็ดทั้งซ้าย ขวาต้องเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยสม่ำเสมอ  ครบ
ถ้วนบริบูรณ์ไม่ขาดแหว่งเว้าไม่เท่ากัน   ต้องคมเข้มดำจัดชัดเจน โดดเด่นสะดุดตา  ขนาดของเกล็ดที่สันหลังจะ
มีความแตกต่างกับเกล็ดปลาอื่นในเรื่องขนาด   เกล็ดสันหลังซูซุยจะไซส์ XL  ไม่เหมือนกับโคฮากุ,ซันเก้ นะครับ
กรุณาดูจากรูปประกอบ  ซูซุยที่มีเกล็ดสันหลังขนาดใหญ่คมเข้มชัดเจน   เรียงตัวเป็นระเบียบเป็นปลาที่มีคุณค่า
ตรง กันข้ามกับเกล็ดข้างลำตัว  ซึ่งดูไม่ค่อยมีบทบาทไม่ได้รับความสนใจจากนักเลี้ยงเท่าใดนัก   เกล็ดข้างลำตัว
จะเป็นเกล็ดอ่อน ไม่แข็งเท่าเกล็ดสันหลัง  เรียงตัวเป็นแถวยาวตามแนวลำตัว  เกล็ดตรงนี้ถ้ายิ่งเล็กหรือมีน้อยจน
มองแทบไม่เห็น  จะเป็นเรื่องดีเลิศประเสริฐศรีอย่างยิ่ง  ตรงกันข้ามกับเกล็ดสันหลังถ้าไม่มีถึงกับเจ๊งกะบ๊งเชียว
นะครับ
        ใครที่เคยเลี้ยงซูซุยจะรู้ว่าถ้าเกล็ดข้างลำตัวมีขนาดใหญ่และเยอะเกิน  เป็นเรื่องไม่ดี  รายละเอียดตรงนี้เอา
ไว้ว่ากันในเรื่องการเลือกปลาอีกที
        ลักษณะพื้นฐานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของซูซุยอีกอย่างคือ  สีแดงหรือฮิแพทเทินส์   ในฉบับก่อนโน้น
ผมได้พูดถึงสีแดงของฮิอูจึริ   ว่าไม่เหมือนกับสีแดงของโคฮากุ   ของซูซุยเองก็เหมือนกันมีลักษณะเฉพาะตัวไม่
ซ้ำแบบใคร  ไม่แดงแป๊ดแสบทรวงแบบโคฮากุ,โชว่า,ซันเก้  สีแดงของซูซุยจะออกไปทางแดงอมส้มนวลๆ ดูรูป
ประกอบแดงแบบนั้นแหละ  ผมไม่รู้จะบรรยายยังไงดี   ดูแล้วมันไม่เหมือนกับสีแดงโคฮากุใช่มั้ยครับ  หรือท่าน
ผู้อ่านมองแล้วเหมือน  เอ..ถ้าอย่างนั้นผมก็ตาถั่วอยู่คนเดียวสิครับเนี่ย
        ซูซุยที่ดีควรมีสีแดงแบบนี้  เป็นสีแท้ๆ ของซูซุย   ถ้าไม่ใช่แดงแบบนี้ถือเป็นของเทียมทำเลียนแบบ  สีแดง
โทนนี้แหละที่นักเพาะพันธุ์พยายยามคงลักษณะไว้  มันทำให้ซูซุยมีความโดดเด่นเมื่อว่ายรวมกับปลาอื่นๆในบ่อ
ถ้ามันมีสีแดงเหมือนโคฮากุ  ผมว่ามันจะดูเป็นอะไรที่ซ้ำซ้อน  คงขาดเสน่ห์ลงไปถนัดตาเลยทีเดียวเชียว
        จากลักษณะที่ผมสาธยายมา  ดูจากรูประกอบครับ   เจ้าคาร์พประเภทใหม่นี้เป็นอะไรที่โดนใจนักเลี้ยงปลา
คาร์พอย่างจัง  วัยรุ่นเค้าบอกว่าโดนอย่างแรง  คือมันเป็นอะไรที่งามหยดย้อยหยาดเยิ้ม  เป็นที่กล่าวขวัญของผู้
ที่ได้พบประสพเจอ  ส่งผลให้ปลาคาร์พที่ท่านศาสตราจารย์คิชิโกโร่ลงทุนผสมพันธุ์เอง  เอ๊ย..เพาะขึ้นมา  โด่ง
ดังเปรี้ยงปร้าง  อย่างกับจุดพลุส่งตูดขึ้นสวรรค์เชียวเลยน่ะครับ
        ด้วยอานิสงฆ์ผลบุญในครั้งนั้นส่งผลให้ชื่อเสียงของท่านศาสตราจารย์   ดังกระฉ่อนพุ่งกระฉูดระบือลือ
ไกลไปเจ็ดย่านน้ำกับอีกสามลำแคว   อย่างคำที่ว่าไว้  คนจะดังต่อให้เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่   และตามธรรมเนียม
ที่พึงปฏิบัติมาช้านาน  นักเลี้ยงชาวญี่ปุ่นจึงได้เรียกชื่อเจ้าปลาคาร์พชนิดใหม่นี้ว่า "ซูซุย"  หรือที่บางท่านเรียก
"ชูซุย"  เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับท่านศาสตราจารย์คิชิโกโร่  อากิยาม่า  โดยนำเอาคำว่าชู (Shu) ซึ่งเป็นคำ
เดียวกับคำว่า "อะกิ"  ย่อมาจากคำว่า  อากิยาม่า  นามสกุลของท่านศาสตราจารย์  รวมกับคำว่า ซุย (Sui) ซึ่งมี
ความหมายว่าสีฟ้าน้ำเงินของอาซากิ  ซึ่งเป็นสีเดียวกับซูซุยนั่นเอง   เรื่องของเรื่องมันก็มีที่มาที่ไป  ดังฉะนี้แล
สาธุชน..
        - ทำไมถึงชอบพูดว่า  อาซากิกับซูซุยเป็นฝาแฝดหรือพี่น้องคลานตามกันมานักนะ..
        อ่ะ..คำถามนี้มีคำตอบ  มาว่ากันเรื่องฮิแพทเทินส์สีแดงก่อน  เจ้าอาซากินี่ผมพูดเน้นย้ำแล้วย้ำอีกว่า อาซากิ
ที่ดีจะต้องมีรูปแบบฮิแพทเทินส์   ตั้งแต่แก้มวิ่งผ่านยาวข้างลำตัวและใต้ท้องตลอดไปถึงโคนหาง  ครีบอกต้อง
มีสีแดงที่เรียกว่าโมโตอะกาด้วย
        แล้วไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่ตรงไหนที่ซูซุยไม่มีล่ะครับ  ซูซุยก็มีสีแดงที่ข้างแก้มข้างลำตัวไปจนถึงโคนหาง
เหมือนกัน  ต่างกันก็เพียงแต่รูปแบบ  อาซากิจะนิยมสีแดงที่ข้างลำตัวใต้ท้องไม่สูงขึ้นมาด้านบนมากนัก  ตรงนี้
ซูซุยเปิดกว้างกว่าอาจจะมีสีแดงขึ้นมาถึงสันหลังเลยก็ได้  มีหลายรูปแบบครับ  โมโตอะกาเจ้าซูซุยก็มีเหมือนกัน
อาซากิกิบางตัวมีสีแดงที่ครีบหลังซูซุยบางตัวก็มี   อาซากิมีสีพื้นเป็นสีฟ้าซูซุยก็ใช่ว่ามีสีพื้นเป็นสีม่วงซะที่ไหน
เล่า  สีฟ้าเหมือนกันเด๊ะ  มีอะไรอีกล่ะที่อาซากิมีแล้วซูซุยไม่มีวานบอก  เห็นมั้ยล่ะ..ว่าที่กล่าวมาทั้งหมด  ซูซุยมี
เหมือนกับอาซากิหมด  อย่างกับคู่แฝดท็อป-ไทด์, ฝันโด่-ฝันเด่  เอ๊ย.. ฝันดี-ฝันเด่นแน่ะ
        ข้อแตกต่างระหว่างซูซุยกับอาซากิอย่างเดียวที่เห็นคือ  อาซากิมีเกล็ดแบบฟูกูริน  ส่วนเจ้าซูซุยมีเกล็ดแบบ
ด๊อยส์แค่นั้นเอง  ในยุคก่อนยังมีนักเลี้ยงเรียกซูซุยว่าอาซากิด๊อยส์เสียด้วยซ้ำไป  สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ประเด็น
สำคัญคือ  อยากจะสื่อให้ทราบว่าสาเหตุที่ซูซุยกับอาซากิมีความคล้ายคลึงกันเพราะว่า   ซูซุยมีต้นกำเนิดมาจาก
อาซากิ   ไม่ได้ให้มาเชื่อว่าปลาทั้งสองเป็นฝาแฝดกันจริงๆ นะครับ  บางสิ่งบางอย่างของอาซากิก็สามารถนำไป
อ้างอิงกับซูซุยได้เหมือนกัน   อย่างการเลือกซื้อและเทคนิคการเลี้ยง  เป็นต้น
        - ชนิดย่อยของซูซุย
       
ที่คุ้นเคยพานพบประสบเจอได้บ่อยๆ หาซื้อได้ทั่วไป   แม้แต่ในร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้บ้านท่าน  เห็นจะมีเพียง
แค่ 3 ชนิดเท่านั้น   นอกเหนือจากนี้เป็นอะไรที่หาทำยาได้ยากอย่าไปสนใจดีกว่าครับ   3 ชนิดที่ว่านี้  มีรูปแบบ
ลวดลายความสวยงาม   กิ๊บเก๋ไปคนละแบบคนละแนวคนละสไตล์  พูดให้เข้าใจง่ายก็คือสวยถูกใจโก๋ทั้ง 3 แบบ
แหละ
        ก่อนจะกล่าวถึงในรายละเอียดขอบอกมือใหม่หัดขับได้รับรู้  ในความเป็นจริงซูซุยไม่ใช่ปลาหายากหาเย็น
แอบเช็คข้อมูลจากกองตรวจคนเข้าเมืองมาแล้วว่า  มีซูซุยจากญี่ปุ่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาเมืองไทย   มากมายมหา
มหาศาลบานตะเถือกเกินกว่าจะคะเนนับ   และก็ยังซูซุยลูกหม้อสายเลือดกะเหรี่ยงเกิดในเมืองไทยอีกอักโขมโห
ฬารบานตะเกียงเช่นกัน  จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นปลาโหลกิโลละบาทไปซะแล้ว   แต่ประทานโทษขอบอกซูซุยที่สวย
งามตามตำรา   หายากยังกับงมเข็มในโอ่งมังกรมากด้วยปริมาณคุณภาพไม่ค่อยจะมี  ฉะนั้นแล้วไซร้ถ้าไปพาน
พบประสบเจอซูซุยงามๆ โครงสร้างแจ่มๆ  สีสันเจ็บปวดเร้าใจ   เกล็ดเรียงตัวเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างกับผ้า
พับไว้  ขอให้รีบกระโดดใส่ทันที  อย่ามัวรีรอลีลาภิรมย์ใจ  ชักช้าเป็นโดนสุนัขคาบไปรับทานแน่
        มาเข้าเรื่องเข้าประเด็นกันดีกว่า ชนิดแรกที่จะแนะนำก็คงเป็นเจ้านี่ครับ
        ฟูไรซูซุย
ฟังชื่อแล้วดูแปลกๆ ไม่คุ้นหูเลยใช่ไหมครับ  ใช่แล้วเพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ถูกลืมเป็นชื่อที่ไม่มีคนนิ
เรียก  ผมจำขี้ปากเพื่อนนักเลี้ยงชาวญี่ปุ่นมาอีกที  โดยทั่วไปนักเลี้ยงจะเรียกซูซุยชนิดนี้ว่า ซูซุย สั้นๆ เฉยๆ หรือ
จะบอกว่าเป็นซูซุยธรรมดาก็ได้  ลวดลายรูปแบบของเจ้าซูซุยชนิดนี้เบสิคมากๆ  คือจะมีฮิแพทเทิร์นใกล้เคียงกับ
อาซากิปลาต้นกำเนิดของมัน  มีโมโตอะกาที่ครีบอก  มีสีแดงที่แก้มเหมือนกัน  ส่วนสีแดงที่ลำตัวก็จะมีตั้งแต่ใต้
ท้อง   แต่จะไม่ลามสูงขึ้นมาถึงสันหลัง   เริ่มต้นจากบริเวณหลังครีบอกไปถึงโคนหาง   และสีแดงที่โคนหางจะ
พาดข้ามเข้าถึงกัน   ว่ากันว่าแพททิร์นแบบนี้เป็นแพทเทิร์นของซูซุยที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่เริ่มแรก   ดูจากชื่อเต็ม
ของมัน "ฟูไร" หมายถึงเก่าโบราณประมาณนี้  จากแพทเทิร์นที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าซูซุยชนิดนี้มีพื้นสีฟ้าในปริ
มาณมาก  จุดเด่นจุดขายของมันก็อยู่ตรงพื้นสีฟ้าที่สันหลังกลางตัวนี่แหละ  จึงมีคำพูดว่าฟูไรซูซุยเป็นปลาโชว์
หลัง
        ฮานะซูซุย
  บางท่านเรียก "ฮานาไ เรียก "ฮาน่า" ก็มี   เอาเป็นว่าถ้าขึ้นต้นด้วยฮาให้เข้าใจว่าเป็นอย่างเดียว
กัน   แต่ถ้าขึ้นต้นแล้วไม่ฮาอันนี้เรียกว่ามุขฝืดกร่อยสนิท  มีผลอย่างมากกับนักตลกบริโภค เจอปล่อยมุขแล้วแป้ก
งานนั้นอาจท้องกิ่ว  อับอายขายขี้หน้าประชาชีอีกต่างหาก   ฮานะในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงดอกไม้ ถ้าลองญี่ปุ่นตั้ง
สมญานามให้อย่างนี้รับรองว่าตัวจริงต้องสวยเช้งกะเด๊ะ
        ฮานะซูซุย คือซูซุยที่มีฮิแพทเทินส์คั่นกลางระหว่างสันหลังกับใต้ท้องอย่างชัดเจน  อันนี้เป็นคำนิยามของ
มัน   แต่ขอบอกว่าหายากมั่กๆ ที่พบเจอล้วนแต่เป็นฮานะที่ดูคลุมเคลือเคลือบแคลง  ฮิแพทเทินส์ไม่คั่นกลางชัด
เจนอย่างนิยามว่า   จุดเด่นของฮานะไม่ได้อยู่ที่พื้นสีฟ้าบนสันหลังกลางตัว   ความสวยงามของมันคือความคม
กริบของสีแดงที่คั่นกลางระหว่างตัว  ฮานะซูซุยจึงเป็นปลาที่โชว์ลายสีแดงต่างกับฟูไรซึ่งโชว์พื้นสีฟ้า
        ลายสีแดงข้างตัวยิ่งคมกริบเป็นแนวสวยเหมือนกันทั้งซ้ายขวาเท่าใด  ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์เพิ่มคุณค่าให้ได้มาก
เท่านั้น   แต่อย่างว่าของสวยหาไม่ง่ายเหมือนของขี้เหร่หรอกครับจะบอกให้  เหมือนผู้หญิงน่ะแหละ อุ๊บ..ปาก
เสีย  เอาแค่ว่าแถบสีแดงพอดูแล้วเป็นแนวนิดหน่อยเราก็เรียกว่าฮานะซูซุยแล้ว  ฮานะซูซุยบางตัวที่ประกวดได้
รางวัล   แถบแนวสีแดงขาดตอนไม่ต่อเนื่อง   แถมลายทั้งสองข้างยังไม่เหมือนกันด้วยซ้ำไป
        ปัจจุบันปลาอย่างที่ว่านี้ออกมาสู่ท้องตลาดเยอะมาก   นักเลี้ยงกับบอกว่าดูดีมีลูกเล่นมองแล้วไม่เบื่ออีกแน่ะ
ผมเคยได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับฮานะซูซุย   เป็นคำเปรียบเทียบความงามของมันว่า  แถบสีแดงที่ข้างลำตัวเปรียบ
เสมือนแปลงดอกไม้  เกล็ดบนสันหลังเปรียบดังภูเขา  ส่วนสีฟ้านั้นเล่าก็งามดั่งทะเลสาบ  ภูเขาดอกไม้ล้อมรอบ
ด้วยทะเลสาบสีฟ้า  อา..ฟังแล้วคลิ้มตาปริบๆ  ถ้าได้อยู่เคียงข้างสาวงาม  ณ.ที่นั้นจะเกิดอะไรขึ้นเนี่ย!  กึ๋ยส์..
        ฮิซูซุย
บรรยายสรรพคุณปลาที่มีชื่อฮินำหน้ามาตั้งหลายครั้งหลายครา  ทั้งหมดในปลาคาร์พทุกประเภท
ที่นำเสนอไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโคฮากุ,ซันเก้,โชว่า,อูจึริ,อาซากิ  แพทเทิร์นประจำตัวของมันคือปลาที่มีสีแดงทั่ว
ทั้งตัว   เป็นลักษณะที่ไม่ค่อยโสภาสถาพรนักเมื่อเปรียบกับแพทเทินส์อื่นๆ เปรียบเหมือนเดั่งลูกเมียน้อย  มักจะ
ด้อยค่าราคากว่าเค้า
        แต่ช้าก่อนโยม  กับซูซุยแล้วไม่ใช่ต้องเว้นไว้สักหนึ่ง  ด้วยความนิยมที่นักเลี้ยงมีต่อฮิซูซุยไม่ได้ด้อยไปกว่า
ซูซุยอื่นๆ เลยสักนิด   มีศักดิ์มีศรีมีชาติสกุลเท่าเทียมเชิดหน้าชูตาได้ไม่อายใคร  ไม่เป็นลูกเมียน้อยอย่างกับปลา
ฮิอื่นๆ  เป็นปลาที่มากอบกู้เอกราชศักดิ์ศรีแห่งความเป็นปลาฮิโดยแท้
        คงไม่ต้องบอกกล่าวเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับว่า  ฮิซูซุยมีรูปแบบแพทเทินส์อย่างไร  ถ้าบอกว่า
ติดตามอ่านงานเขียนมาตลอด  แต่จินตนาการภาพฮิซูซุยไม่ออกล่ะก็งานนี้มีเรื่อง  ไม่ท่านผู้อ่านก็ผมคงต้องเอา
หัวไปโขกต้นมะพร้าวตายกันไปข้างนึงล่ะ  ฮิซูซุยคือซูซุยที่มีสีแดงทั่วทั้งตัว  มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เหลือแต่
ลูกกะตาดำยิ่งดี   ยิ่งแดงมากแดงมิดชิดเท่าไหร่คุณค่าราคาค่าตัวยิ่งสูง
        ประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึง  คือฮิซูซุยบางตัวที่ก่อนหน้าคือซูซุยปรกติ  แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมาวันดีคืนดีเจ้าสี
แดงมันดันขึ้นเละเทะ เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน ขี้เรื้อนสังคัง เจออย่างนี้วัยรุ่นเซ็ง!  อย่ากะนั้นเลย  ไหนๆ ก็ไหนๆ
แล้วเร่งสีให้แดงเถือกไปทั้งตัวกลายเป็นฮิซูซุยไปเลยดีกว่า  นี่พูดจริงๆ นะไม่ใช่พูดเล่นๆ มือใหม่หัดขับที่ยังไม่
เคยเลี้ยงซูซุย  ยังไม่รู้ซึ้งถึงฤิทธิ์เดชปาฏิหารของเจ้านี่  ว่ามันสะแด่วแห้วแสบสันต์สะเด่าทรวงแค่ไหน ไอ้ตรง
ที่ไม่อยากให้แดงขึ้น  มันล่ะขึ้นจริงขึ้นจัง  แต่ไอ้ตรงไหนอยากให้ขึ้น  รอไปสิบปีสี่ชาติไม่โผล่มาให้เห็นสักแอะ
        ก่อนจบขอพูดถึงซูซุยอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาเสนอ   เหตุที่ไม่มาเสนอเพราะว่ามันไม่เป็นที่นิยม  อย่างซูซุยที่ไม่
มีสีแดงเลยสักนิด  เลี้ยงไว้ดูเกล็ดที่สันหลังอย่างเดียว  ถึงจะมีคนเลี้ยงแต่เป็นกลุ่มน้อยเท่านั้น  กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่ม
ที่ชอบอะไรที่มันวิปริตพิสดาร   เป็นกลุ่มคนประหลาดอย่าไปพูดถึงเขาดีกว่า  บางอย่างก็ดูสวยดีอย่าง "คิซูซุย"
ซึ่งเป็นซูซุยที่มีสีเหลืองสวยงามมาก  โดยส่วนตัวผมก็ชอบ   แต่ทานโทษร้อยปีปรากฏกายมาให้เห็นเป็นบุญตา
สักตัว  ก็ไม่รู้จะนำมาเสนอให้เปลืองหน้ากระดาษเปลืองหมึกทำไม จึงขอจบแบบห้วนๆ ด้วยประการฉะนี้ครับ
  <<End>>

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser  พบข้อผิดพลาด - ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม  โทร 01-4598555 นายรัน >>>