ตีพิมพ์ในนิตยสาร  AQUA
       
โงชิกิ  ( Koromo )
        นับตั้งแต่ชื่อและภาพปลาคาร์พ   ผ่านเข้าหูเข้าตาจากทางทีวี   ย้อนอดีตวัยละอ่อนไปเมื่อยี่สิบปีก่อนภาพ
ภาพปลาสีขาวสะอาดมีลวดลายสีแดงสุดแสนพิศดารตระการตา  สร้างความอัศจรรย์และประทับใจให้ผมถึง
กับตะลึง   ความหลงใหลในเสน่ห์ปลาคาร์พเริ่มก่อตัวนับแต่นั้น   ดั่งต้องมนต์สะกดทีละน้อยๆ อย่างไม่ทันระ
แวดระวัง   มารู้ตัวอีกทีใจมันก็บอกว่า  หลงเสน่ห์ปลาคาร์พเข้าเต็มเปาซะแล้ว
        ครั้งแรกรักเพียงแค่รู้จักแต่ผิวเผิน   ในครั้งนั้นโลกปลาคาร์พของผมมีเพียงแต่ปลาสีขาวแดง  ทุกครั้งที่
ได้ยินชื่อปลาคาร์พ   สีขาวแดงต้องวิ่งมาชนต่อมจินตนาการก่อนเพื่อน  จำไม่ได้ว่าจมอยู่กับสีขาวแดงนานนับ
เดือนนับปีแค่ไหน   จนกระทั่งวันแห่งความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเยือน  เมื่อปลาคาร์พตัวนึงซึ่งมันคงนึกหมั่นไส้
ผมมานาน   กระซิบสะกิดบอกว่า"เฮ้ยๆ ยังมีปลาคาร์พสีอื่นอีกนะโว๊ย.. ไม่ใช่มีแต่สีขาวแดง"
        เจ้าปลาที่ดึงผมออกมาจากโลกเดิมๆ  ให้รับรู้ว่าปลาคาร์พนั้นมีหลากหลาย  มีชื่อเรียกจำง่ายๆ ว่า  โงชิกิ
จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักมัน   กำลังเลือกไล่ช้อนปลาขาวแดงอย่างเมามันในอารมณ์  จู่ๆ ดัน
มีปลาสกปรกๆ กะมอมกะแมม  วิ่งเข้ามาในกะชอนโดยไม่ได้เชื้อเชิญ   ดั่งกามเทพแผลงศรรักใส่เมื่อตาต่อตา
ต่อตามาประสาน  ปิ๊ง!  ผมเริ่มปันใจให้เจ้าปลาสกปรกกระมอมกระแมมแล้วครับ
        อา..ขึ้นไตเติ้ลซะยาวเหยียด  เพียงแต่จะบอกว่าวันนี้ผมจะอาสาพามือใหม่หัดขับ  มาทำความรู้จักกับโง
ชิกิ  หนึ่งในสี่ของกลุ่มอาซากิ   ส่วนมือเก่าเก๋าเกมส์จะเข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วยก็ไม่ว่ากันจ้ะ
        ลักษณะรูปแบบพื้นฐานของโงชิกิ
        อ่ะ..เรื่องนี้โม้กันได้ยาว  มีใครดันทะลึ่งพูดไว้ไม่รู้ว่า  ในบรรดาปลาคาร์พทั้งหมดทั้งปวงโงชิกิเป็นปลา
ที่ขี้เหล่ทุเรศสุดๆ  แหม..ฟังแล้วระคายหูแฟนพันธุ์แท้โงชิกิชอบกล  ไม่จริ๊ง.. ไม่จริง  ขอเถียงคอเป็นเอ็น  ขอ
ค้านสุดลิ่มทิ่มประตู  แต่ก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่าจากที่เขียนถึงปลาคาร์พประเภทแรกจนถึงเจ้านี่  ก็ปาเข้าไป
ประเภทที่แปดแล้ว  ที่ผ่านมานั้นล้วนแต่เป็นอะไรที่ดูเนี้ยบๆ กิ๊บๆ  เปรียบดังไฮโซดูดีมีชาติตระกูลแต่เจ้านี่มัน
ออกแนวไปทางพี่เสก โลโซ
        กับโคฮากุ,ซันเก้,โชว่า ฯลฯ  ผิวพรรณสีสันนี่ต้องเจ๋งสุดๆ ว่ากันแบบไร้มลทินราคีคาว  จึงกล่าวได้ว่าเป็น
สุดยอดปลาคุณภาพ  แต่โงชิกิกลับกลายเป็นอะไรที่เปลี่ยนไป  ไม่ใช่เปลี่ยนธรรมดาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลัง
เท้าทีเดียวเชียว  ยิ่งดำ สกปรก เลอะเทอะ ขมุกขมัว มอมแมม  เท่าไหร่คุณค่ากับยิ่งทวีคูณ  นี่คือคำนิยามหนึ่ง
ของโงชิกิ  คืออย่างนี้ครับท่าน  ฟังดูแล้วออกจะมึนส์ๆ เพื่อความกะจ่าง  จินตนาการภาพตามผมลองนึกถึงโค
ฮากุที่ชิโรจิเป็นสีดำดูสิครับ สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้แหละ  แต่สามารถสื่อภาพของโงชิกิได้ดีที่สุด ถ้าเป็นโคฮากุแท้ๆ
ลักษณะอย่างนี้ต้องนำไปแป๊ะซะสถานเดียว   แต่กับโงชิกิสีที่กระดำกระด่างกลับกลายเป็นองค์ประกอบ ให้มัน
ดูสวยงามมีคุณค่าอย่างไม่น่าเชื่อ  ยิ่งดำเลอะเทอะยิ่งดูดีมีเสน่ห์  จริงๆนะครับไม่ได้โม้  มันเป็นอะไรที่ตรงกัน
ข้ามกับโคฮากุ  โคฮากุเน้นความขาวที่ชิโรจิ  โงชิกิกลับเน้นให้ดำมอมแมม มือใหม่หัดขับบอกฟังแล้วงง..วุ๊ยส์
        สรุป  โงชิกิคือปลาที่มีฮิแพทเทิร์นแบบโคฮากุแต่มีสีดำอยู่บนพื้นชิโรจิ  บางตัวอาจมีสีดำบนฮิแพทเทิร์น
บ้างก็แล้วแต่  ในเรื่องของรูปแบบฮิแพทเทิร์นโงชิกิไม่มีรูปแบบลวดลายพิเศษ ใช้บรรทัดฐานโคฮากุมาอ้างอิง
ได้เลย มีนิดัง,ซันดัง  อื่นๆเหมือนโคฮากุทั่วไป  ไม่ใช่ประเด็นสำคัญต้องนำมากล่าว  ลวดลายแพทเทิร์นต่างๆ
เหล่านี้  พูดกันมาหลายรอบแล้วในเรื่องโคฮากุ,โชว่า,ซันเก้ จุดขายของโงชิกิที่สำคัญคือสีดำที่อยู่บนชิโรจิครับ
        ประวัติความเป็นมา
        ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากนักโดยสายพันธุ์แท้   เน้นคำว่าสายพันธุ์แท้นะครับ  มันถือกำเนิดหลังอาซากิ
อย่างที่บอกแต่แรกว่ามันเป็นปลาลูกผสมระหว่างอาซากิ กับปลาที่มีฮิแพทเทินส์อย่างโคฮากุ,ซันเก้  ส่วนปลาที่
มีพื้นผิวสีดำคล้ายๆ กับโงชิกิ   แต่ไม่ใช่โงชิกิเป็นปลาที่มีสีดำเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา  มันคือปลาจับฉ่าย  ปลา
โหลยโท่ย  อันนี้ผมคาดว่าน่าจะมีมาก่อนอาซาก  ปลาโหลยโท่ยอย่างนี้ก็ยังมีอยู่  หาดูได้ไม่ยากครับ ไม่ต้องไป
ไหนไกล  บ้านเราเพียบ อุ๊บ..ปากเสีย
        ว่ากันว่าโงชิกิที่ดีสายพันธุ์นิ่งถือกำเนิดเอาเมื่อปี 1918 เริ่มต้นจากการนำเอาอาซากิมาผสมไขว้กับโคฮากุ
ซันเก้  ลูกปลาที่ได้ส่วนใหญ่เป็นโคโรโมะ  ในจำนวนโคโระโมะที่ว่ามีบางตัวมีสีดำอยู่บนชิโรจิด้วย   ยังพอจำ
กันได้นะครับว่าโคโรโมะที่ดีสีดำอยู่บนเกล็ดสีแดงเท่านั้น  ไม่ควรลงมาเลอะเปรอะเปื้อนบนชิโรจิ  ได้มีการนำ
เอาโคโรโมะที่มีสีดำที่ชิโรจิดังกล่าว  ไปผสมไขว้กับอาซากิอีกครั้ง ผลออกมากลับได้ปลาที่มีสีดำบนชิโรจิมาก
ขึ้นกว่าเดิม  จะเห็นได้ว่าโงชิกิในปัจจุบันนี้จำนวนมาก  มีสีดำอยู่บนฮิแพทเทินส์เช่นเดียวกับโคโรโมะ  อาจจะ
เป็นเพราะว่าในชั้นต้นมีการนำเอาโคโรโมะมาไขว้กับอาซากิในลักษณะนี้นี่เอง
        เมื่อปลาที่มีพื้นผิวสีดำได้ถือกำเนิดขึ้นมาเรื่อยๆ นักเลี้ยงปลาเริ่มที่จะมองเห็นความสวยงามของมัน  และ
ให้การยอมรับกันมากขึ้น  ก็เลยมีการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นโงชิกิที่เห็นทุกวันนี้
        ถึงตรงนี้อยากให้ย้อนกลับไปที่อาซากิสักนิด   ตรงนี้แหละเป็นการอธิบายถึงคำกล่าวที่ว่า  อาซากิเป็นปลา
คาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์  เป็นปลาที่มาการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้กำเนิดจากการไขว้สายพันธุ์
มากนักเมื่อเทียบกับปลาคาร์พประเภทอื่น  ด้วยความที่มันเป็นปลาสายเลือดบริสุทธิ์  สายเลือดมันถึงแรงนำไป
ผสมกับอะไร   ก็จะได้ลักษณะสีดำของมากอยปลาต้นกำเนิดของมันติดมาด้วยทุกคราไป   โคโรโมะและโงชิกิ
ต่างพิสูจน์คำกล่าวนี้ได้ดี
        แต่ปัจจุบันนี้โงชิกิเป็นปลาที่มีสายเลือดนิ่งแล้ว   การเพาะพันธุ์ก็ใช้พ่อแม่ที่เป็นโงชิกิโดยตรง  มากกว่าที่
จะนำเอาโคฮากุมาผสมไขว้  สอบถามเซียนยุ่นได้ความว่าฟาร์มดังที่มีชื่อเสียงในการผลิตโงชิกิที่ญี่ปุ่น  ใช้พ่อ
แม่ที่เป็นโงชิกิแท้ๆ ทั้งนั้นแหละครับ
        เซียนยุ่นยังสาธยายต่อว่า  ในเรื่องของโครงสร้างโดยรวมแล้ว  โงชิกิยังสู้ปลาหลักโกซันเก้ไม่ได้อาจเป็น
ด้วยว่าที่ญี่ปุ่นเองก็ยังมีน้อยฟาร์มที่ผลิตโงชิกิ  การแข่งขันที่จะพัฒนาสายพันธุ์ก็เลยน้อยตามไปด้วย และกระ
แสความนิยมของนักเลี้ยงเองก็ยังน้อยกว่าปลาหลัก   แต่ก็มีข่าวดีว่าปัจจุบันความนิยมในกลุ่มปลาแปลกได้เพิ่ม
มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  โงชิกิก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน  คาดว่าอีกไม่นานคงมีโงชิกิโครงสร้างใหญ่ๆ ล่ำๆ
ออกมากระทบไหล่โกซันเก้   เพราะว่าฟาร์มดังๆ ที่ญี่ปุ่นที่ผลิตโกซันเก้ได้ดี   ได้เริ่มพัฒนาสายพันธุ์โงชิกิเพื่อ
จะมากระซวกเงินในกระเป๋าเราๆ ท่านๆ กันแล้ว
        โงชิกิแปลตามความหมายคือ 5 สี "โง" แปลตรงตัวว่าห้า   ถ้าเติมไม้เอกลงไปอีกตัวหมายถึงฉลาดน้อย
คำว่า "ชิกิ" ในเรื่องปลาคาร์พหมายถึงสี   เทียบกับคำว่านิชิกิกอยก็คือปลาคาร์พที่มีสีสันทำนองนี้  ที่พูดมานี่
ใช่ว่าผมเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นนะ   บอกตรงๆ ปรกติภาษาไทยยังพูดจากับชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่อง  ที่ฝอยมาทั้ง
หมดถามเซียนยุ่นมาอีกที  กะเหรี่ยงไทยออกเสียงว่าโงชิกิเป๊ะๆ แต่สำเนียงยุ่นผมฟังกี่ครั้งๆ จะออกแนวโกชิกิ
งานนี้ถ้าผมไม่หูฝาดไปเองเซียนยุ่นก็พูดไม่ชัดละครับ
        แต่ที่แน่ๆ โงชิกิแปลว่าปลาที่มีห้าสีในตัวแหงๆ ที่มาของชื่อนี้มาจากใครไม่รู้หละ  คงมองเห็นว่าเจ้านี่มี
ถึงห้าสีในตัวเดียวกัน   ห้าสีที่ว่าก็มี แดง,ขาว,ดำ,เป็นหลัก  ที่เหลือก็ เทา,น้ำเงิน,ฟ้า,น้ำตาล,เหลือง ก็ว่ากันไป
ตามที่ตาเห็น  แต่กับผมมองกี่รอบๆ มองจนตาเข  ก็ยังเห็นมันอยู่แค่สามสี ขาว,ดำ,แดง โดยเฉพาะสีดำไม่ใช่
ดำธรรมดา  ดำมอมแมมสกปรกยังกับลูกหมาตกน้ำ   แต่ในความมอมแมมกับดูมีเสน่ห์มีชีวิตชีวาเป็นบ้า  ใคร
จะตั้งฉายาให้เจ้านี่ยังไงไม่รู้   แต่กับผม "ปีศาจห้าสี" คือฉายาที่เหมาะกับมันที่สุด
        สีแดงอันโดดเด่น..
       
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโงชิกิ   โดยดั้งเดิมสีแดงของมัน  มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนสีแดงของโคฮากุ,ซันเก้
ฮิอูจึริ,ซูซุย ในสมัยก่อนนักเลี้ยงปลาต่างรู้ว่าสีแดงของโงชิกิ  โทนออกไปในทางแดงปนส้มอมน้ำตาลอะไรทำ
นองเนี้ย  ไม่รู้จะอธิบายให้เห็นภาพยังไงแต่เชื่อว่านักเลี้ยงรุ่นเก่ารู้จักดี  สีแดงของโงชิกิดั้งเดิมที่ผมพูดถึงนี้มี
ความหนาลึกมาก  จนมองดูเหมือนว่ามันลอยออกมาจากผิว แต่ปัจจุบันลักษณะสีแดงที่ว่านี้เริ่มน้อยลงๆ เริ่มมี
ความหลากหลายของโทนสีแดงอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
        อีกอย่างที่อยากบอกให้มือใหม่หัดขับได้ทราบ  ว่าด้วยรูปแบบลักษณะของมันที่มีสีดำมอมแมม  ในสมัย
ก่อนมันจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มปลาแปลกคาวาริโมโน   แต่ปัจจุบันถูกจัดเป็นประเภทหนึ่งของปลาคาร์พไปแล้ว
ในงานประกวดทั้งของชินโกไก, ไอรินไก  ก็จัดประกวดโงชิกิแยกประเภทต่างหากแล้ว  ซึ่งในสมัยก่อนจะจัด
ประกวดรวมอยู่ในประเภทคาวาริโมโน
        ฤดูหนาวกับสีดำ..
       
เชื่อว่าคงเคยได้ยินกันบ้างแน่ๆ ที่พูดกันว่า โงชิกิจะสวยงามเป็นพิเศษเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ว่ากันว่าสีดำ
จะเข้มชัดเจนกว่าปรกติ  ใครไม่เชื่อไม่รู้ผมคนนึงล่ะเชื่อสนิท  เชื่อเพราะมีประสบการณ์โดยตรงจากการเลี้ยง
ของตัวเอง  โงชิกิที่ผมเลี้ยงทุกตัวเป็นอย่างที่ว่าหมดเลยนะ  ไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นอย่างของผมหรือเปล่า  แต่
คิดว่าส่วนใหญ่เป็นนะ  ไม่งั้นคงไม่พูดกันหรอก   แต่อาจจะสังเกตได้ยากหน่อยเพราะบ้านเราหน้าหนาวหน้า
ร้อนอุณหภูมิไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่  ร้อนตับแล่บตลอดปี
        เพื่อความกระจ่างชัดเลยสอบถามเซียนยุ่นว่าที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้เหมือนกันมั้ย  คำตอบคือแม่นแล่วที่ญี่ปุ่น
ก็เหมือนกัน   เป็นเรื่องธรรมดาของปลาคาร์พประเภทนี้  ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติแต่อย่างใด   ถ้าจะเลี้ยงโงชิกิให้
สวยต้องเลี้ยงที่น้ำเย็น   อุณหภูมิน้ำในเมืองไทยซึ่งร้อนแทบลวกไข่ (ปลา) สุก   จึงไม่ค่อยถูกโฉลกกับเจ้านี่นัก
ที่ญี่ปุ่นอุณหภูมิน้ำโดยเฉลี่ยต่ำกว่าบ้านเรา  โงชิกิที่เลี้ยงที่บ้านเค้าจึงมีสีดำเข้มสวยตลอดทั้งปี  ไม่จำเป็นต้อง
รอให้ถึงหน้าหนาว   เซียนยุ่นเลยเสนอไอเดียกิ๊บเก๋ว่า  ในเมืองไทยถ้าอยากเลี้ยงโงชิกิให้สวยแนะนำให้ติดแอร์
ให้รอบบ่อเลย   ถ้าทำได้อย่างนี้รับรองว่าสวยชัวร์ป้าด..
       
ชนิดย่อยของโงชิกิ
        ในบ้านเราโงชิกิก็คือโงชิกิไม่มีใครสนใจหรอกว่าโงชิกิมีกี่ชนิด  ญี่ปุ่นเองก็เหมือนกันเรียกรวมเหมาโหล
หมดว่าโงชิกิ  แต่หารู้ไม่ว่าถึงจะกะดำกะด่างอย่างนี้ก็เถอะ  มีการแบ่งชนิดย่อยให้มันเหมือนกันนะเออ  เท่าที่
ผมรู้มีอยู่สี่ชนิดย่อยที่น่าสนใจ
        คูโระโงชิกิ
  บ้างเรียก คุโร บ้างก็เรียก คูโหระ  ว่ากันตามถนัดปากกะเหรี่ยงไทยอย่าไปซีเรียสกับมันมาก
ไม่ใช่ภาษาเรา  จะเอาให้เป๊ะๆ สำเนียงในฟิลม์คงยาก  อย่างโงชิกิบางท่านออกเสียงโกชิกิ   ก็สื่อสารกันได้เข้า
ใจไม่มีปัญหา  คูโระโงชิกิคือโงชิกิที่มีสีดำเข้ม   และคูโระที่ดีควรมีสีดำที่บริเวณหน้าด้วยจึงจะถือว่าเจ๋ง  เจ้า
นี่ถือเป็นขวัญใจอันดับหนึ่งของผม  ชอบที่มันสีดำปิ๊ดปี๋เวลามองดูแล้วได้น้ำได้เนื้อ สีดำเข้มของมันบ่งบอกถึง
ความเป็นโงชิกิได้ดีกว่าชนิดอื่น   มองดูก็รู้ปั๊บว่าเป็นโงชิกิ  ไม่ต้องมาเดาว่าใช่โงชิกิหรือปล่าวให้เมื่อยตุ้ม  ถ้า
เป็นวงการพระเครื่องก็ต้องบอกว่า  เนื้อสวยดูง่าย
        คูโระเป็นปลาที่หาได้ยากในบ้านเรา   เพราะว่าบ้านเราอากาศร้อนตับแล่บ  คูโระโงชิกิที่ว่าเจ๋งๆ ดำปิ๊ดปี๋
จากญี่ปุ่น  มาถูกน็อคที่เมืองไทยซะนักต่อนักแล้ว  ญี่ปุ่นคงเป็นที่อยู่ของมันที่เหมาะสมที่สุด  อยู่เมืองไทยเป็น
ได้เสียหมา เอ๊ย..เสียปลาเอาง่ายๆ  ฉะนั้นถ้าใครอยากเห็นคูโระสวยๆ หาดูเอาในนิตยสารรินโกะ,นิชิริน ก็แล้ว
กันครับ  มีให้ดูเพียบ
        ไฮอิโระโงชิกิ
  แปลตามตัวว่าโงชิกิสีเทา  ไฮอิโระโงชิกิมีอีกหนึ่งชื่อรียกคือ ชิโร่โงชิกิ แปลว่าโงชิกิที่มีสี
ขาว  ฟังจากชื่อแทบไม่ต้องบรรยายต่อ  เป็นโงชิกิที่ไม่ดำเท่าหรือซีดจางกว่าคูโระโทนสีออกไปทางขาวหรือ
เทาตามชื่อเรียก  ในบ้านเราที่พบเห็นส่วนใหญ่จะเป็นโงชิกิชนิดนี้ หรือเดิมทีมันอาจจะเป็นคูโระตอนอยู่ญี่ปุ่น
แต่พอมาอยู่ที่เมืองไทยเจอน้ำร้อนต้มไข่สุก  สีเลยถอดซะก็ไม่รู้
        โดยดั้งเดิมไฮอิโระมีรูปแบบเฉพาะตัวของมันเอง  ไม่ใช่ปลาซีดจางอย่างที่คิด  รูปแบบของไฮอิโระที่ดี
หมายถึงโงชิกิที่มีชิโรจิขาวเฉกเช่นโคฮากุ  สีดำจะอยู่ที่ปลายขอบเกล็ดเท่านั้น  เป็นเสี้ยวพระจันทร์เหมือนกับ
สีดำที่ขอบเกล็ดโคโรโมะ   ยิ่งกระจายอยู่ทั่วตัวและเรียงตัวเป็นระเบียบแล้ว   บอกได้คำเดียวว่าสวยโคตรพ่อ
อันนี้ว่าตามนิยามของมันนะ   ส่วนตัวจริงจะหาดูได้หรือไม่นั้นอีกเรื่องนึง  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอะไรที่
ตำราเขียนไว้ว่าสวย  มักจะหาตัวจริงดูได้ยากซะด้วยนะ เฮ้อ..
        ที่แบ่งตามลักษณะของชิโรจิเท่าที่รู้มีอยู่สองชนิดเท่านี้   ส่วนอีกสองที่กำลังจะกล่าวถึงแบ่งตามลักษณะ
ของฮิแพทเทินส์
        มุคะชิโงชิกิ
บ้างก็เรียกมุซาชิโงชิกิหรืออีกในหนึ่งชื่อคือ โคะไดโงชิกิ ทั้งมุคาชิและโคะได แปลได้ว่ายุค
เก่าสมัยเก่า  ในความหมายของปลาคาร์พคือปลาสายเก่า ที่เรียกชื่อมันอย่างนี้คงต้องการสื่อให้รู้ว่า เป็นปลาที่
ถือกำเนิดในยุคแรก   ลักษณะสำคัญของมุคะชิโงชิกิหรือโงชิกิยุคแรก  คือฮิแพทเทินส์จะไม่แดงสว่างเหมือน
กับปลาคาร์พประเภทอื่น  อย่างที่บอกแต่แรกว่าเดิมทีนั้นสีแดงของโงชิกิมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผมหมายถึงสี
แดงของมุคะชิโงชิกิที่กำลังกล่าวถึงนี่แหละ   แดงของมันจะไม่สว่างอย่างโคฮากุ  เป็นแดงอมส้ม   จะว่าแดง
อมส้มก็ไม่เชิงอธิบายเป็นคำพูดยากครับจนปัญญาไม่รู้จะบรรยายยังไงให้นึกภาพออก  รูปที่นำมาประกอบก็ดู
ไม่ชัดเจนเหมือนกับตัวจริงซะด้วยสิ  มือเก่าเก๋าเกมส์รู้จักสีของโงชิกิที่ว่านี้ดี  มือใหม่หัดขับคงต้องไปหาดูตัว
จริงเอาเองแล้วหละ
        แต่ทีเจ๋งมากๆ คือความหนาของสี   มองด้วยตาเปล่าจะรู้ทันทีว่าสีแดงของมันหนามาก  หนากว่าปรกติ
หนากว่าสีแดงของปลาคาร์พประเภทอื่น  หนาจนดูเหมือนลอยนูนออกมานอกผิวทีเดียวเชียว  สีแดงลักกษณะ
นี้แหละ  ทำให้มันเป็นที่ยอมรับของนักเลี้ยงในยุคนั้น   ปัจจุบันโงชิกิชนิดนี้มีน้อยลงลง   แต่ก็ยังพอหาดูได้ไม่
ยากนัก  ที่ญี่ปุ่นยังมีฟาร์มที่ยังเพาะโงชิกิสายนี้อยู่  เพื่อต้องการจะรักษาเอกลักษณ์ของสีแดงดั้งเดิมนี้ไว้
        กินไดโงชิกิ
ชื่อนี้คุ้นหูกันแล้วจากกินไดโชว่าหนึ่งในชนิดย่อยของโชวาซันโชกุ  กินไดคำนี้หมายถึงสมัย
ใหม่  ยุคใหม่ ประมาณนี้  ถ้าเป็นกินไดโชว่าก็หมายถึงโชว่าที่มีสีดำน้อย  ชิโรจิมากมองดูสะอาดตา  เป็นปลา
ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  ถ้าเป็นโชวายุคแรกๆ จะเป็นปลาที่มีสีดำเยอะ  มีมุมมองที่ดูดุดันถูกอกถูกใจ
คอซาดิสต์   กับโงชิกิกินไดหมายถึงชื่อเรียกโงชิกิที่มีฮิแพทเทินส์ออกไปในโทนแดงสว่างคล้ายๆ กับแดงของ
ของโคฮากุ  แต่จะออกโทนแดงดำกว่านิดนึงกินไดโงชิกิจะมีโทนสีแดงต่างกับมุคะชิอย่างเห็นได้ชัด
        ปัจจุบันฟาร์มที่ญี่ปุ่นจะผลิตโงชิกิสายนี้เป็นหลัก  โงชิกิเดิมๆ เริ่มลดน้อยลงไปทุกที สอบถามเซียนยุ่นได้
ความว่า  โงชิกิสายเดิมจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง  หาโครงสร้างล่ำๆ ได้ยาก จะผอมๆ เพียวๆ  เมื่อว่ายเคียง
คู่กับปลาหลักโกซันเก้จะดูด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด   เปรียบเทียบคนยุโรปกับเอธิโอเปียประมาณนั้น  อันนี้ไม่ใช่
แกล้งว่านะครับ  ผู้ที่ผ่านการเลี้ยงโงชิกิจะรู้ดีว่าหาปลาที่โครงสร้างล่ำบึ้กแบบแรมโบ้ได้ยาก   ในยุคหลังจึงนิ
ยมไขว้สายกับโคฮากุที่โครงสร้างดี   เพื่อให้โงชิกิออกมามีโครงสร้างดีขึ้น   สีแดงของปลายุคเก่าอย่างมุคะชิ
โงชิกิ  เลยเปลี่ยนแปลงมาใกล้เคียงกับโคฮากุเข้าไปทุกที   จริงไม่จริงไม่รู้เซียนยุ่นเขาบอกมาครับผม
        มาถึงตรงนี้คงต้องโบกมือลา   จบสิ้นแล้วกับปลาในกลุ่มอาซากิทั้งสี่  อาซากิ,ซูซุย,โคโรโมะ,โงชิกิ  ฉบับ
หน้ามาว่ากันต่อในกลุ่มปลา "ฮิคาริโมโน" มีทั้งหมดด้วยกันสามประเภท  ติดตามอ่านนะครับ บ๊าย..บาย

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser  พบข้อผิดพลาด - ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม  โทร 081-4598555 นายรัน >>>