ตีพิมพ์ในนิตยสาร  AQUA
       
ฮิการิมูจิโมโน  ( Hikarimujimono )
        และแล้วการเดินทางร้อยลี้เริ่มต้นจากก้าวเดียว  ก็ฝ่าฟันมาถึงครึ่งค่อนทางอย่างทุลักทุเล  ผจญอุปสรรคที่
ถาโถมโหมกะหน่ำราวพายุร้ายคลุ้มคลั่ง  ลูกแล้วลูกเล่าจนแทบเอาตัวไม่รอด  อุปสรรคที่ว่าหาใช่อื่นใด  ความขี้
เกียจมิ่งมิตรนิรันกาล  คือผมขี้เกียจหลังเป็นขนโดยสันดานน่ะครับ  กว่าจะจับจดจับจ้องตัดใจจิ้มนิ้วพิมพ์ต้นได้
รู้สึกว่าสาหัสยังกับถูกบังคับให้ไปตายปานนั้น
        แต่จะว่าไป อุ๊..แม่เจ้า! โม้ไปโม้มา ล่อเข้าไปแปดประเภทแล้วหรือนี่  เก่งเหมือนกันนะตู จะห่วงก็แต่ท่านผู้
ผู้อ่านที่เคารพ   เจอลีลาน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงของผมเข้าไป  จะควานหาเนื้อหาเส้นได้มั่งหรือเปล่าเนี่ย..
        อ่ะ..อย่ากะนั้นเลย  มาว่ากันต่อดีกว่า  วันนี้ภาษายุ่นวันละคำขอนำเสนอ “ฮิการิมูจิโมโน” หนึ่งในสามของ
กลุ่ม “ฮิการิโมโน” กลุ่มนี้มาแปลกว่าสองกลุ่มแรก  ตรงที่ทั้งสามประเภทในกลุ่มมีลักษณะพื้นฐานบางอย่างแบบ
เดียวกัน  ไม่ฉายเดียวเหมือนแต่ละประเภทของอีกสองกลุ่มที่นำเสนอไป   ฉะนั้นเพื่อความสะดวกในการพูดถึง
ปลาทั้งสามประเภทในกลุ่มนี้  มันสมองขี้เกียจๆ นึกได้ทันทีทันควันเลยว่า ต้องรวบยอดเอาลักษณะพื้นฐานของ
มันมาพูดรวบยอดเสียครั้งเดียวไปเลยดีกว่า
        ลักษณะรูปแบบพื้นฐานของปลาคาร์พกลุ่ม "ฮิการิโมโน"
        อ่ะ..เกือบลืม "ฮิการิ" กับ "ฮิคาริ"  อย่างเดียวกันนะครับบอกให้รู้เสียก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวได้เข้าใจว่าพูดคนละ
เรื่องเดียวกัน  ผมขอเรียกว่า "ฮิการิ" แล้วกัน เพราะคิดว่าส่วนใหญ่พี่ไทยน่าเรียกแบบนี้ ที่ไปที่มาของชื่อ "ฮิกา
ริโมโน" กระซิบถามยุ่นได้ความว่าแบ่งได้เป็นสอง  หนึ่ง "ฮิการิ" หมายถึงมันเงา  แวววาว  หรือหมายถึงรัศมี
เปล่งประกายเรืองรองก็ได้  ถ้าใช้กับปลาคาร์พน่าจะแปลกระชับๆ ว่าปลาผิวมันเงา ดูท่าจะเวิร์ก ฟังแล้วนึกภาพ
ง่ายดี  อีกคำ "โมโน" เคยพูดถึงแล้วในเรื่องอูจึริโมโน  แปลเป็นไทยได้ว่าประเภท,ชนิด เป็นคำต่อท้ายเฉยๆ ไม่
มีอะไรมาก จบภาษายุ่นวันละคำ
        ลักษณะพื้นฐานของปลาฮิการิทั้งสามประเภท  อย่างแรกคือดูจากความหมายของชื่ ปลากลุ่มนี้มีผิวพรรณ
เงางามแวววาวสะท้อนแสงเป็นจุดขายสำคัญ   ถ้าปราศจากลักษณะที่ว่านี้เป็นได้เหี่ยวเฉาขายไม่ออกตายคาต้น
เชียวล่ะครับท่านผู้ชม    อาจสงสัยว่ามันจะเงาได้สักแค่ไหน   ถึงขนาดสะท้อนแสบตาดังโดนแฟลตยิงใส่อย่าง
นั้นหรือปล่าว  อ่ะ..คงไม่ถึงขนาดนั้น  ปลานะครับไม่ใช่เหล็กชุบโครเมี่ยม  ชั่วชีวิตที่ผ่านมา
        ผิวของฮิการิโมโน  แตกต่างกับปลาคาร์พอื่นอย่างสิ้นเชิง  ผิวมันเงาเป็นอะไรที่ทำให้มันดูมีคุณค่า ถึงแม้ฮิ
การิโมโนบางชนิดจะมีสีเดียวทั้งตัวไร้ซึ่งลวดลาย  ก็ยังได้รับความนิยมจากนักเลี้ยง ซึ่งปลาอื่นๆ ยากที่จะทำได้
ยกตัวอย่างโคฮากุ,ซันเก้,โชว่า ถ้าลองทะลึ่งมีสีเดียวทั้งตัว บอกตรงๆ ว่าโอกาสที่จะไปแหวกว่ายน้ำมันในกะทะ
มีสูงมาก   ที่พูดมาทั้งหมดเพื่อตอกย้ำว่าความมันเงาของปลากลุ่มนี้ไม่ใช่อุจจาระๆ นะขอบอก  มันเงาสะดุดตา
จริงๆ ในตำราปลาคาร์พฝรั่งยังใช้คำว่าปลาที่มีผิว "Metallic" เลยก็แล้วกัน  คิดดูสิว่ามันเจ๋งแค่ไหน จอร์จ..
        ฮิการิที่ดีผิวต้องมันเงาตลอดทั้งตัว   จะมาเงาเป็นหย่อมๆ หร็อมแหรมไม่ได้น่าเกลียดตายชัก   ควรจะเงา
ตั้งแต่ปากหัวลำตัวครีบหลังครีบอกหาง  เงาไปถึงตับไตใส้พุงยันถุงน้ำดียิ่งแจ๋วใหญ่  ขอเกริ่นพอเป็นนัยให้รู้ว่า
ตรงส่วนไหนที่ควรมีความมันเงาเป็นพิเศษ  ที่ลำตัวแน่นอนของตายอยู่แล้ว  ที่หัวต้องเงาสะท้อน  ครีบอกต้อง
เงาสะท้าน  อย่างนี้เซียนเขาบอกว่าแจ่ม  รายละเอียดเอาไว้ว่ากันในเรื่องการเลือกครับ
        "ฟูกูริน" เคยฝอยไปแล้วในในเรื่องอาซากิ  สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาอ่าน ทวนให้ฟังนิด  ฟูกูริน หมายถึงเนื้อ
เยื่อบริเวณรอบขอบเกล็ด  เนื้อเยื่อที่ว่าจะประสานให้เกล็ดแต่ละเกล็ดดูเหมือนเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว   เหมือนมี
ร่างแหตาข่ายปกคลุม  นักเลี้ยงบ้านเราเรียกฟูกูรินว่าตาข่ายความหมายตรงกันกับยุ่น
        ฮิการิโมโนที่ดี  ฟูกูรินต้องมีสม่ำเสมอทั่วทั้งตัวหนานูนชัดเจน  มันเป็นจุดเด่นในการมอง ถ้าขาดหายกวง
โบ๋ค่าตัวตกกะฉูด  ถ้าเป็นสาวล่ะขายไม่ออกขึ้นคานสถานเดียว แล้วเจ้าฟูกูรินนี่ก็แปลกซะด้วยเวลามีครบทั่วตัว
กับมองเหมือนไม่มีแต่ถ้าขาดโบ๋ไปหน่อยละก็  อยู่ห่างสามกิโลยังมองเห็นชัดเจน  ฟูกูรินจะเริ่มต้นจากรอยต่อที่
หัวกับลำตัวไล่ยาวไปจนถึงปลายหาง เว้นไว้แต่ส่วนหัว  ช่วงแรกไปจนถึงต้นครีบหลังจะหนานูนกว้างโดดเด่น
กว่าตรงส่วนอื่น   แต่ถ้าตัวไหนหนานูน ( หมายถึงฟูกูริน  อย่าคิดเป็นอื่น ) อย่างนี้ทั้งตัวถือว่าเกรดเอ สิ่งสำคัญ
ของฮิการิมูจิทั้งสามเท่าที่นึกออกน่าจะมีเท่านี้   ตัดบทมาทำความรู้จักกับฮิการิโมโนประเภทแรกกันดีกว่า
        ฮิการิมูจิโมโน  สุดยอดของปลาสีเดียว
        เอามาแนะนำเป็นอันดับแรกด้วยว่าเป็นหน้าเป็นตาของปลาฮิการิ    มีคนรู้จักมากที่สุดความนิยมไม่ได้เป็น
รองกว่าปลาคาร์พประเภทต่างๆ ที่ผ่านมา  ไม่มีใครไม่รู้จักน้อยบ่อนักที่จะไม่มีมันแหวกว่าย  คำว่า ฮิการิโมโน
รู้จักกันแล้วว่าแปลว่าอะไร  เติมมูจิเข้าไปอีกคำเดียวได้ปลาคาร์พขึ้นมาอีกหนึ่งประเภทในบันดล  “มูจิ” แปลว่า
สีเดียวหรือสีพื้น  ฮิการิ+มูจิ+โมโน  จึงหมายถึงปลาคาร์พผิวมันเงาสีเดียวทั้งตัว
        ว่ากันว่าฮิการิมูจิโมโนเป็นปลาที่ถือกำเนิดก่อนเพื่อนในบรรดาฮิการิโมโนทั้งสาม  การกำเนิดของมันมีขั้น
ตอนสลับซับซ้อนพอควร   แต่เมื่อกำเนิดมาก็ได้รับความนิยมล้นหลาม  ถูกขึ้นบัญชีเป็นปลาคาร์พประเภทใหม่
ทันที  ทั้งที่จริงจะว่าไปแล้วปลาคาร์พที่มีสีเดียวทั้งตัวก็หาใช่มีแต่มัน  แต่เรตติ้งของผู้เลี้ยงกับเทให้มันซะจน
ปลาสีเดียวอื่นชิดซ้ายตกขอบไปเลย
        ฮิการิมูจิ ที่ได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงบ้านเรามีอยู่สองสามชนิด ที่จริงมันมีโทนสีที่แตกต่างกันไปเล็กๆ
น้อยๆ มากกว่านี้   แต่ขอรวบรัดตัดความเอาเฉพาะที่ได้รับความนิยมมาแนะนำให้มือใหม่ได้รู้จักเท่านั้น  นอก
เหนือจากนี้ที่ได้รับความนิยมไม่มากนัก  คงต้องหาดูกันเองแล้วหละครับ   เรามาทำความรู้จักกับฮิการิมูจิชนิด
แรกดีกว่า
        โอกอน  
ขวัญใจตลอดกาลของนักเลี้ยงปลาคาร์พผู้ชื่นชอบปลาสีเดียว  เริ่มแรกเลี้ยงเชื่อว่าคงรู้จักโคฮากุ
เป็นอันดับแรก  โอกอนน่าจะถูกซื้อไปประดับบ่อเป็นอันดับถัดๆ มา  ถ้าหากมีการโหวตขวัญใจนักเลี้ยงแบบราย
การอาคาเดมีแฟนตาเซีย   ฟันธงว่าโอกอนต้องได้รับคะแนนจากบรรดาอาซิ้ม,อาซ้อ,อาเฮีย,อากู๋  อย่างท่วมท้น
ถล่มทลาย   ด้วยความที่เป็นปลาสีทองเหลืองร่ามเงางาม ซิ้ม,ซ้อหลายท่านที่ผมรู้จักเลี้ยงปลาคาร์พอยู่ด้วยกัน
ให้เหตุผลว่า  ที่เจาะจงเลี้ยงโอกอนเป็นพิเศษอย่างขาดไม่ได้   เพราะสีเหลืองของมันเงาประดุจทองคำซึ่งเป็น
เป็นอะไรที่ถูกโฉลกกับคนจีน
        ซินแสผู้ชำนาญในการดู ฮวงซุ้ย เอ๊ย! ฮวงจุ้ย อีแนะนำว่าเลี้ยงแล้วจะเฮงๆๆ ร่ำรวยโชคลาภ เงินทองไหล
มาเทมา   เลี้ยงแล้วจะช่วยเสริมบารมีให้กับเจ้าของอย่างมาก   ดีไม่ดีอายุอาจยืนยาวเป็นหมื่นปี  โดยไม่ต้องไป
แย่งชิงกินบัวหิมะกับเหล่าจอมยุทธ์ให้เมื่อยตุ้ม  จริงเท็จประการใดโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
        “โอกอน” คำนี้ยุ่นบอกมาว่า  มีความหมายเกี่ยวกับทองคำ  ถ้าอย่างนั้นผมขอเลี่ยงบาลีใช้คำว่าปลาสีทอง
แทนคำว่าปลาสีเหลืองดีกว่านะครับ  เพื่อให้ตรงกับชื่อที่ยุ่นเจ้าตำรับเรียก  อีกอย่างเพิ่งนึกได้ว่าคำว่าสีเหลือง
มันอาจจะดูกว้างไป  บางสิ่งบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์จะออกนามก็ดันมีสีเหลืองเหมือนกัน แหวะ.. รู้นะครับ
ว่าผมหมายถึงอะไร   เกรงว่าใครดันอุตริพาลไปนึกว่าปลาที่มีสีเหลืองประดุจดัง... เจ้านั่นเข้าละดูไม่จืดเชียว
นะโยม!
        ในบันทึกกล่าวว่าโอกอนตัวแรกถือกำเนิดเมื่อราวๆ ปี 1946 เป็นปลารุ่นหลานรุ่นเหลนเมื่อเทียบกับโคฮา
กุ  ผู้ที่ทำการเพาะพันธุ์โอกอนสำเร็จเป็นรายแรก คือสองพ่อลูกตระกูลอะโอกิ ซาวาตะกับฮิเดโยชิ แห่งหมู่บ้าน
ทาเกะซาว่า,ยามาโกชิ,โอจิยะ  ปลาที่สองพ่อลูกนำมาเพาะในชั้นต้นเป็นปลาสีทองที่หาได้จากแม่น้ำธรรมชาติ
บางคนแย้งว่า  อ้าว..ในเมื่อมีตามแน่น้ำก็ไปเหวี่ยงแหลงอวนจับเอาสิมาเพาะเองให้เสียเวลาทำไม  ไม่ใช่อย่าง
นั้นฟังให้จบก่อน  ปลาที่มีสีทองที่ว่ามันไม่ได้สวยงามเหมือนในปัจจุบัน  เป็นเพียงแต่ที่สีทองแบบนิดหน่อยๆ
ที่ลำตัว  ที่หัวยังมัวๆ กะดำกะด่าง   แถมยังมีจุดสีดำขึ้นอยู่ทั่วทั้งตัวอีกต่างหาก   เปรียบไปก็เป็นได้แค่ทองเก๊
ใส่ไปเดี๋ยวลอกๆ ต้องคอบชุบอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่ทองแท้บาทละหมื่นกว่าใส่แล้วสะดุดตาขี้ยามิจฉาชีพที่สุด ระวัง
เน้อ..สมัยนี้อันตรายรอบตัว  ทางที่ดีถอดเก็บซะหรือไม่ก็เอามาฝากผมไว้ก็ได้  ฮิ..ฮิ..
        อ่ะ..ออกไปไกลเลยตู   เข้าเรื่องต่อการพัฒนสายพันธุ์ในครั้งแรกๆ ใช่ว่าจะได้ปลาสีทองอร่ามทั้งตัวออก
มาเลยนะ  ไม่หมูอย่างที่คิด  แต่มันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ละนิดละหน่อย   มีบางส่วนกลายเป็นสีขาว,เทาเงินออก
มาด้วย  เป็นปลาจำพวกคิน-กิน คาบูโตะ  ปลาที่มีสีเทาคล้ำที่บริเวณหัว  คิน-กินโบะ  สองอย่างหลังนี้เป็นปลา
ที่บริเวณหลังยังไม่ดีพอยังมีสีคล้ำปนเปื้อนอยู่   สุดท้ายโอกอนที่มีสีเหลืองทองทั้งตัวก็ได้ถือกำเนิดจากการนำ
เอา ชิโร่ฟูจิ ปลาสีขาวที่มีสีเงินที่หัวตัวเมียมาผสมกับปลาตัวผู้ คิน-กินโบะ,คิน-กินคาบูโตะ   ในบันทึกยังบอก
ไว้ว่าในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแต่ก็ได้โอกอนที่สมบูรณ์แบบเพียงแค่สองตัวเท่านั้น
        จากวันนั้นถึงวันนี้  โอกอนสีทองสองตัวได้ขยายแพร่พันธุ์ให้กำเนิดปลาที่มีสีเหลืองทอง  ทั้งเหลืองอ่อน
เหลืองนวล ขาวอมเหลือง  แตกต่างกันไปท้ายสุดของการพัฒนสายพันธุ์โอกอนเมื่อปี 1957  นายมัตสะโอกะ
ได้พัฒนาโอกอนให้มีสีเหลืองทองเข้มจัดเงางามกว่าเดิมได้สำเร็จป็นโทนสีอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้   ชื่อของโอ
กอนโทนสีนี้คือ “ยามาบูกิโอกอน” แต่นักเลี้ยงบ้านเรายังนิยมเรียกมันสั้นๆ ว่าโอกอนเหมือนเดิม ฉะนั้นมือใหม่
หัดขับโปรดจำไว้นะครับว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน   เพียงแต่ว่าคำว่าโอกอนยังคอบคลุมไปถึงปลาที่เป็นปลาผิว
มันเงาในกลุ่มฮิการิทั้งหมดด้วย
        แพลตทินั่มโอกอน
หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า แพลตทินั่มหมายถึงปลาฮิการิมูจิที่มี สีทองคำขาว  ว่ากันอย่างนี้
เลยแหละ  และมันก็ขาวมันเงาดุจดังทองคำขาวจริงซะด้วย เป็นปลาขวัญใจ ซิ้ม-ซ้อ-เฮีย-กู๋ เหมือนกับโอกอน
เลี้ยงให้ครบสูตรสีทองทองสีเงิน เลี้ยงแล้วเงินทองไหลไปเทมาว่างั้นเถอะ
        หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นหรือเลือกซื้อปลากับคนญี่ปุ่น  ถ้าได้ยินเขาพูดถึงคำว่า “ฮิกกิน” โปรดจงรู้ว่า
เขากำลังพูดถึงเจ้า แพลตทินนั่มนี่แหละ  หรือถ้าได้ยินคำว่า “ฮากุโชกุ” ก็หมายถึงแพลตทินั่มอีกเหมือนกัน “ชิ
โร่โอกอน” ก็ด้วยเจ้านี่มันมีหลายชื่อ  แพลตทินั่มถือกำเนิดเอาเมื่อปี 1963 ห่างจาก โอกอนหลายปีอยู่ ผู้ที่เพาะ
ได้สำเร็จคือนายทาดาโอะ โยชิโอกะ แห่งเมืองอูซู โดยขั้นต้นนำเอาคิกอย ผสมกับนิซูโอกอน แล้วนำมาพัฒนา
จนได้แพลตทินั่มที่สมบูรณ์แบบ
        ออเรนท์ โอกอน
ตัวนี้นิยมเรียกชื่อเป็นภาษาฝรั่งเหมือนกัน  เป็นโอกอนที่มีสีส้มทอง  ออเร้นท์โอกอนที่ดี
ถูกเพาะพันธุ์ในราวๆ ปี 1953-1956 เกิดหลังยามาบูกิไม่กี่ปี  จัดเป็นปลาหายากหาเย็น  อ่ะ..จะว่าหายากก็ไม่
เชิงต้องบอกว่าออเร้นท์โอกอนที่สวยจริงๆ  หายากกว่ายามาบูกิ,แพลตทินั่มถึงจะถูก  สองชนิดแรกจัดเป็นปลา
ตลาดที่มีการผลิตออกมาจำหน่ายตลอดไม่มีขาดแคลน
        เคยสังเกตเอาเองนะว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรที่มีการนำเข้าปลาคาร์พจากญี่ปุ่นมาเป็นล็อต  ฮิการิมูจิที่เห็นหน้า
ค่าตามากกว่าเขาเพื่อนก็คือยามาบูกิ  ทองอร่ามมากันเป็นฝูง  แทรกแซมมาด้วยทองคำขาวแพลตทินั่มพองาม
ออเร้นท์น้อยสุดมาแบบกะปริบกะปอย  แต่สมัยนี้หาได้ไม่ยากเพียงแต่จะสวยตามคำนิยามของออเร้นท์โอกอน
แท้ๆ หรือปล่าวเป็นอีกเรื่องนึง
        มาถึงตรงนี้คงต้องขอสรุปว่าปลาในกลุ่มฮิการิมูจิ มีอยู่สามชนิดนี้เท่านั้นที่เป็นที่นิยมชมชอบของนักเลี้ยง
ส่วนใหญ่   ส่วนชนิดอื่นที่เหลือผมขอ เออ..ออ ห่อหมกว่าไม่ค่อยมีใครชอบ  จึงขอเอาแต่ชื่อมาให้รู้จักก็แล้วกัน
ซึ่งก็มี กินมัตจึบะ หมายถึงโอกอนสีทองคำขาวที่มีสีดำในร่องเกล็ด   คินมัตจึบะหมายถึงโอกอนสีทองที่มีสีดำ
ในร่องเกล็ด ถือกำเนิดเมื่อปี 1960 โดยนายมาโนะ อิซาบูโร่ โดยนำเอาปลามัตจึบะ (ปลาสีเดียวที่มีสีดำในร่อง
เกล็ด) มาผสมกับโอกอน อย่าสงสัยว่าในเมื่อมีสีดำปนอยู่ด้วย จะเอามารวมกลุ่มกับฮิการิมูจิที่แปลว่าปลาสีเดียว
ได้ยังไง คือเขาเอาสีพื้นเป็นหลัก สีดำมันแค่เหลื่อมในร่องเกล็ดเท่านั้นไม่ได้เป็นลวดลายแพทเทินส์  มองดูแล้ว
ก็ยังเป็นปลาสีเดียวอยู่วันยังค่ำ  นสึโอกอนหมายถึงโอกอนที่มีสีเทาเงิน ฮิโอกอนกอน เป็นโอกอนที่มีสีใกล้เคียง
กับออเร้นท์โอกอนแต่จะมีสีแดงกว่า มิซูโฮะโอกอนหมายถึงโอกอนที่มีเกล็ดที่บริเวณหลังเป็นสีดำ คูโระโอกอน
หมายถึงโอกอนที่มีสีดำ จบแล้วจ้า..

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser  พบข้อผิดพลาด - ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม  โทร 081-4598555 นายรัน >>>