โชวาซันโชกุ  ( showa  Sanshoku )  ราชาหน้าสามสี
        อันว่าปลาคาร์พนั้นมีมากมายหลายประเภทหลายชนิดหลายสายพันธุ์  อยู่ที่ว่าใครจะขยันแบ่งจุ๊บ แบ่ง
จิ๊บ แบ่งยิบ แบ่งย่อย  ออกไปแค่ไหน  ก็สุดแท้แต่ใจพระเดชพระคุณท่าน  ไม่มีกฏหมายมาบังคับหรอกครับ
        พูดถึงการจัดแบ่งประเภท  ขอแหลมเข้าเรื่องการจัดกลุ่มปลาคาร์พตามสไตล์ญี่ปุ่นสักนิด  จากตำราใน
มือที่เซียนยุ่นกรุณาอ่านและแปลให้ฟัง  พอจะจับใจความได้ว่า  คนญี่ปุ่นพูดถึงกลุ่มปลาหลัก " โกซันเก้ " ว่า
เป็นกลุ่มปลาที่มีการพัฒนาสายพันธุ์จนสมบูรณ์แบบเพียบพร้อม  เป็นที่ยอมรับของนักเลี้ยง  ในงานประกวด
ปลากลุ่มนี้มักจะกวาดเอารางวัลแกรนด์ไปครอบครองเสมอ  โกซันเก้ประกอบด้วย โคฮากุ, ไทโชซันโชกุ, โช
วาซันโชกุ   แต่ถ้าเป็นปลายอดนิยมขวัญใจนักเลี้ยงปลาคาร์พในยุคปัจจุบัน  ไม่ว่ารายไหนๆ ต้องมีติดบ่อกลุ่ม
นี้ยุ่นเรียกว่า "ชิเทนโน" แปลเป็นภาษากระเหรี่ยงได้ความว่า " สี่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งปลาคาร์พ " ประกอบด้วย รา
ชันย์ขาวแดง โคฮากุ, เทพบุตรจุดดำ ซันเก้,ราชาหน้าสามสี โชว่า,จักรพรรดิลายดำ อูจึริโมโน ฉายานำหน้า
ผมเป็นคนตั้งขึ้นมาเอง  ไม่ต้องบ้าจี้เรียกตามผมนะ
        อ่ะ..ขึ้นไตเติ้ลยาว  เพียงกะอีแค่จะบอกว่าในเมื่อไล่ดะมาตั้งแต่โคฮากุ,ไทโชซันโชกุ  ครานี้ก็ต้องโชวา
ซันโชกุ  และจึงต่อด้วยอูจึริโมโนตามระเบียบพัก
         อันดับแรก  ต้องมาจูนความถี่ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า เอ๊ะ..ทำไมบางครั้งเรียก" โชวาซันโชกุ"
บางครั้งเรียก " โชว่า " ตกลงมันชื่ออะไรกันแน่..?

          คืออย่างนี้..อันนามกรต้นฉบับเต็มตามยศฐาบรรศักดิ์  เจ้าคาร์พประเภทนี้ยาวเหยียดเป็นกิโลคือ "โช
วาซันโชกุ" แต่ด้วยสันดานไทยแท้แต่โบราณ  ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ  เราไม่นิยมเรียกชื่ออะไรที่มัน
ยาวๆ โดยเฉพาะคำต่างบ้านต่างเมือง  เรามักจะดัดแปลงเรียกให้สั้น  หรือไม่ก็เปลี่ยนเพี้ยนสำเนียงซะ  เอา
สะดวกปากเข้าว่า  ยกตัวอย่างโกโบริหนุ่มนักรักเลือดซามูไรจากนิยายดัง  ที่ดั้นด้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลง
เสน่ห์กลิ่นกะปิสาวไทย  ก็ดันมีคนไปเปลี่ยนไปเพี้ยนชื่อกลายเป็นพ่อดอกมะลิซะฉิบ  นี่เป็นตัวอย่าง
        ฉันใดก็ฉันเพล  มีเหรอที่กระเหรี่ยงสยามจะเรียกเจ้าคาร์พชนิดนี้ว่าโชวาซันโชกุ  ยาวเหยียดอย่างกับ
ขบวนรถไฟไปสุไหงโกลก  เรียกยากจะตายชัก  ก็เลยหดมันซะจุ๊ดจู๋เลยว่า "โชวา" หรือไม่ก็ "โชว่า" ตัวผม
ขอเรียก "โชว่า" ตามคนหมู่มาก  ฟังสะดวกหูพูดสะดวกปากกว่ากันเยอะเลย
        โอ.เค.ความถี่ตรงกันแล้วนะครับว่า โชวาซันโชกุ ก็คือ โชว่า  เหมือนที่เราเรียก ไทโชซันโชกุ ว่า ซันเก้
นั่นแหละ
          เอ..แล้วชื่อ " โชวาซันโชกุ " นี้ ท่านได้แต่ใดมา หรือว่าเจ้าภิภพ โลกาท่านให้?
          แน่ะ..ผมเอากลอนศรีปราชญ์มาให้อ่านซะด้วย  ผมว่านะถ้าใครรู้ภาษาญี่ปุ่นนิดๆหน่อยๆ ก็คงพอเดา
ออกว่า  มันต้องเป็นปลาคาร์พที่มี 3 สีในตัวเดียวกันเหมือนกับซันเก้ แน่เลย  เพราะชื่อเต็มๆ มีคำว่า ซันโชกุ
เหมือนกัน  แม่นแล่ว..แม่นอีหลี  เป็นไปอย่างที่คิดนั่นแหละเด้อ.. ถ้าใครเพิ่งหลงเข้ามาอ่านอาจมึนตึ้บ  กระ
นั้นต้องกล่าวทวนย้อนรอยอดีตให้สักหน่อยว่า  ซันโชกุนั้นในภาษาปลาคาร์พหมายถึงปลาที่มี 3 สี ประกอบ
ด้วย ขาว,ดำ,แดง หายงงหรือยัง  ส่วนคำว่าโชวาที่นำหน้า  เป็นชื่อยุคการปกครองของญี่ปุ่น  เหมือนกับยุค
สุโขทัย,ยุคกรุงศรีบ้านเรา  ดังนั้น โชวา+ซันโชกุ จึงมีความหมายตรงตัวว่า  ปลาสามสีแห่งในยุคโชวา  คือ
ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับยุคโชวานั่นเอง  อ่ะ..จบภาษาญี่ปุ่นวันละคำ  มาทำความรู้จักเจ้าหน้าสามสี ต่อดีกว่า
          จุดกำเนิด  ประวัติความเป็นมาของ โชว่า
          ถ้าว่ากันตามบันทึก  มันถือกำเนิดเอาเมื่อประมาณปี 1927  ถ้าคิดเป็น พ.ศ. อยู่ในช่วงคุณตายังหนุ่ม
คุณยายยังสาว  ช่วงนั้นญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มต้นยุคโชวา  ในกาลครั้งนั้นกระทาชายนายหนึ่ง  มีนามว่านายจูกิชิ  โฮ
ชิโน่ แห่งยามาโกชิ  ยังพอจำกันได้มั้ยว่าปลาคาร์พหลายประเภทได้ถือกำเนิดที่นี่  นายจูกิชิ  ซึ่งเป็นนักเพาะ
พันธุ์ปลาคาร์พมือฉมัง  ได้ทดลองนำเอาปลาคาร์พสีเหลือง  ที่มีลวดลายสีดำพาดผ่านตั้งแต่สันหลัง  ลงมา
ถึงใต้ท้อง  มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า "คุโรคิฮาม" ปัจจุบันเรียกว่า "คิอูจึริ" นำมาผสมข้ามพันธุ์กับโคฮากุ  ผล
ในครั้งนั้นได้ลูกปลาจำนวนหนึ่ง ที่มีลักษณะผิดแผกแปลกตาแต่ว่าดูสวยงาม  ลักษณะเด่นของลูกปลาที่ว่านี้
เป็นการถอดแบบเอาลักษณะเด่น  ของคิอูจึริกับโคฮากุมารวมกัน  ลองนึกภาพโคฮากุที่มีแถบสีดำพาดผ่านตั้ง
แต่สันหลังจนถึงบริเวณท้อง  นั่นแหละ..ลูกปลาที่ได้มีลักษณะอย่างนั้นแหละ
        นายจูกิชิชื่นชอบลูกปลาเหล่านี้มาก  และได้คัดเอาปลาตัวที่มีลักษณะเด่นมากๆ  เก็บเอาไว้ขยายพันธุ์ต่อ
ไป  ข่าวคราวของปลาสามสีที่นายจูกิชิเพาะได้นั้นได้แพร่ออกไป  มีนักเพาะพันธุ์ปลาคาร์พจำนวนมากมานำ
เอาปลาดังกล่าวไปพัฒนาลวดลายสีสันให้ดีขึ้น  จากครั้งแรกที่นายจูกิชิเพาะได้นั้น  สีแดงยังไม่มีคุณภาพนัก
จะออกไปในโทนสีเหลืองอมน้ำตาล  ซึ่งถือเป็นข้อด้วยของโชว่าในยุคนั้น  ไม่เหมือนกับสีแดงของโคฮากุที่
เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  ในสมัยนั้นก็มีการพยายามที่จะทำให้สีเหลืองอมน้ำตาลนี้  ให้กลายเป็นสีแดงจริงๆให้ได้
แต่ไม่มีใครทำสำเร็จ
          จวบจนเวลาผ่านมาเนิ่นนาน..โชว่า ที่แท้จริงได้ถือกำเนิดขึ้น
          ผู้ที่ทำสำเร็จเป็นคนแรกสมควรจดจำชื่อไว้คู่กับนายจูกิชิ คือ นายโทโมจิ  โคบายาชิ เจ้าของโรงงาน
ทอผ้าอะนาโกโช  เมืองโทชิโอะ  นายโทโมจิ ได้รับการยกย่องว่า  เป็นผู้ให้กำเนิดโชว่ายุดใหม่ที่มีความสม
บูรณ์แบบ  ดั่งนางงามพร้อมส่งลงเวทีประกวด กลเม็ดเคล็ดลับก็ไม่ได้มีอะไรเลย  เพียงแต่นำเอาโชว่าที่สืบ
สายเลือดมาจากโชว่าดั้งเดิมของนายจูชิกิ  ข้ามห้วยมาผสมกับ ยาโกเซ็นโคฮากุ  ซึ่งเป็นโคฮากุสายพันธุ์เลิศ
ที่มีฮิแพทเทินส์แดงเฉียบขาดบาดใจ  อันนี้เคยกล่าวไปแล้วในเรื่องโคฮากุ
        ผลจากการผสมข้ามห้วยในครั้งนั้น  ได้ถือกำเนิดโชว่าแท้ๆ โชว่ายุคใหม่ขึ้นมาในปี 1964 หลังจากที่
นายจูกิชิได้เริ่มไว้ประมาณ 37 ปี  ความพยามยามอยู่ที่ไหนความพยามยามอยู่ที่นั่น  เอ๊ย..ความสำเร็จอยู่ที่
นั่นจริงๆ ครับ  จากการถือกำเนิดอย่างสมบูรณ์แบบ  ทำให้โชว่ากลายเป็นปลายอดฮิตติดทำเนียบปลาดังไป
ในบันดล   เรียกว่าในยุคนั้นนักเลี้ยงคนไหนไม่รู้จักโชว่า หรือไม่มีโชว่าประดับบ่อ  ถือว่าเชยสะบัดช่อ  เชย
แบบสุดๆ เชียวล่ะพระเดชพระคุณ  นายโทโมจิก็เลยโด่งดังยังกับจุดพลุไปด้วย  และเพื่อให้เป็นเกียรติประ
วัติกับนายโทโมจิ  ในฐานะผู้แรกที่ประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดโชว่ายุคใหม่  จึงเเรียกชื่อปลาโชว่า
ยุคนั้นว่า "โคบายาชิโชว่า"
          ฉายา ราชาหน้า 3 สี  นี่มันมีที่ไปที่มานะจ๊ะ..
          เป็นฉายาที่ผมตั้งให้มันเองครับ  มีนัยสำคัญเพียงเพื่อต้องการสื่อ  เน้นให้ทราบว่า  ลักษณะดังกล่าว
เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นปลาประเภทนี้  ถ้าพูดถึงโชว่า แง่มุมหนึ่งก็ต้องนึกถึงปลาที่มีแพทเทินส์ 3
ที่หน้า  มันเป็นค่านิยมหนึ่งที่นักเลี้ยงมีให้กับมัน  จนเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า โชว่าที่ดีหน้าต้องมี 3 สี  ขาว
ดำ แดง สำหรับผม  ขอใช้คำว่าควรมีนะครับ  ไม่ได้ใช้คำว่าต้องมี  มีไม่ครบทั้ง 3 สี โปลิส ก็ไม่จับเพียงแต่
ว่านักเลี้ยงส่วนใหญ่ต่างให้คะแนนเสียง  ว่าปลาโชว่าที่มี 3 สีครบที่หน้า  เป็นมุมมองสวยงามลงล็อคลงตัว
มองแล้วสยิ๋วส์กิ๋ว  ได้อารมณ์ซี๊ดซ้าด  มากกว่าปลาที่มีไม่ครบสามสีที่หน้า   ซึ่งตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในส่วน
ใหญ่  เห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์  ว่าปลาโชว่าหน้า 3 สี  มันเป็นอะไรที่ดูดี๊ดูดีมากๆ จึงนำมากราบเรียนให้พระ
เดชพระคุณท่าน  นักเลี้ยงมือใหม่ทั้งหลายได้ทราบเอาไว้ว่า   ถ้ามีโอกาสเลือกซื้อเลือกหา  ก็อย่าลืมมองปลา
โชว่าที่มีสามสีครบที่หน้าด้วยล่ะ  มันเป็นพิมพ์นิยมนะจ๊ะ
          เอ..ในเมื่อโชว่า กับ ซันเก้ เป็นปลาที่มีสามสีเหมือนกัน   แล้วความแตกต่างของเจ้าทั้งสองนี่  ดูกันยัง
ไงล่ะ..

          อา..เป็นคำถามที่เด็ดสาระตี่ดีแท้  เชื่อว่านักเลี้ยงปลาหน้าใหม่  คงเคยเจอะเจอปัญหานี้มากันแล้วทั้ง
นั้นแหละ  ผมก็เหมือนกัน  เมื่อครั้งยังเป็นมือใหม่หัดขับ  ก็เคยมึนตึ้บเรียกผิดเรียกถูก  เรียกซันเก้เป็นโชว่า
เรียกโชว่าเป็นซันเก้  ล่อกันให้วุ่น  แต่ชั่วโมงนี้ผมคงไม่ปล่อยให้มิตรรักแฟนเพลง  ต้องประสบชะตากรรม
กรรมโง่ๆ อย่างผมเด็ดขาด  ความโง่เป็นสิ่งมีค่าควรเอามาใช้ให้ถูกจังหวะและเวลา  อย่าเอามาใช้พร่ำเพื่อ
วิธีดูความแตกต่างระหว่าง ซันเก้กับโชว่า  มีง่ายๆ ดังนี้  ประการแรกให้สังเกตที่สีดำ  สีดำที่ปรากฏบนตัว
ซันเก้ จะเป็นจุดๆ แต้มๆ มีขนาดเล็กๆไม่ใหญ่มาก  อาจจะมีบ้างที่สีดำมีขนาดใหญ่  แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาด
เล็กหน่อมแน้ม  คือเวลาที่เราพูดถึงซันเก้  ก็ต้องนึกถึงปลาที่มีจุดเแต้มสีดำเล็กๆ มากกว่าขนาดใหญ่  ส่วนสี
ดำที่ปรากฏบนลำตัวโชว่า  จะมีขนาดใหญ่เป็นปื้นเป็นแผ่นมองดูแล้วได้น้ำได้เนื้อมากกว่า  และแพทเทินส์สี
ดำที่ว่านี้  บางส่วนจะพาดตั้งแต่สันหลังลงมาถึงใต้ท้อง  ประมาณว่าถ้าเปรียบสีดำของซันเก้เป็นขี้เกลื้อน สี
ดำของโชว่าก็น่าจะอยู่ในระดับขี้เรื้อนคุดทะราด
          ความแตกต่างระหว่าง โชว่ากับซันเก้ ยังดูที่ครีบอกได้ด้วยนะครับ
          ถ้าดูความแตกต่างระหว่างสีดำแล้วยังดูไม่ออก  ยังมีวิธีดูอีกประการที่ครีบอก  ที่ครีบอกอกของปลา
ทั้งสองนี้  จะมีเอกลักษณ์ของเอกบุรุษต่างกันอย่างสิ้นเชิง  จำได้มั้ยเอ่ย..ผมเคยกล่าวถึงเรื่องครีบอกของซัน
เก้  ว่าที่ครีบอกของมันมักจะมีริ้วสีดำมาให้ดูเสมอๆ ริ้วสีดำนี่ไม่ใช่ตำหนินะครับ  เป็นเอกลักษณ์ของมัน ถึง
แม้จะไม่มีทุกตัวก็ตาม  แต่ถ้ามีก็ถือว่าเป็นซันเก้แท้ชัวร์ไม่มั่วนิ่ม  ของโชว่าเค้าก็มีเอกลักษณ์สำคัญที่ครีบอก
เหมือนกัน  และก็เป็นสีดำเหมือนกันด้วย  เพียงแต่ว่าสีดำที่ครีบอกของโชว่าจะไม่เป็นริ้วเป็นเส้น  จะเป็นปื้น
หรือบางตัวก็ดำทั้งครีบอกเลย  มองดูแล้วได้น้ำได้เนื้อกว่าของซันเก้เยอะ
        สีดำที่ว่านี้จะไม่อยู่ในตำแหน่งลอยๆ กลางๆ ครีบเหมือนของซันเก้นะครับ  ของโชว่าจะอยู่ที่บริเวณ
คนครีบอกติดกับลำตัวเลย  จะเล็กบ้างใหญ่บ้างก็ว่ากันไป  หรือจะดำทั้งครีบก็ไม่แปลก  แต่ละตัวไม่เหมือน
กัน  แต่ที่สำคัญควรมีทั้งสองข้างถึงจะแจ๋ว  ผิดกับซันเก้ซึ่งจะมีริ้วสีดำข้างเดียวก็ได้  ไม่ถือว่าเป็นเป็นเรื่อง
ผิดแปลกแต่ประการใด  นักเลี้ยงเรียกลักษณะอย่างนี้ของโชว่า  ว่าปลาหูดำ  และนักเลี้ยงก็ยังลงมติเป็นเอก
ฉันท์ว่า  ปลาโชว่าที่ดีต้องเป็นปลาหูดำเท่านั้น   ย้ำอีกครั้งนะครับว่าต่างกับซันเก้  ของซันเก้ครีบอกจะมีริ้ว
สีดำหรือไม่มีก็ได้   แต่ของโชว่าจะเน้นลงไปเลยว่าครีบอกควรมีสีดำ   ถ้าไม่มีถือว่าขาดเสน่ห์อย่างร้ายแรง
เปรียบดังสาวไม่มีหน้าอกไปนั่น  แฮ่ะๆ
        อ้าว..โม้มาซะยาวดันลืมบอกไปว่า  เจ้าปื้นสีดำที่ครีบอกของโชว่า  มีชื่อเรียกตามภาษาญี่ปุ่นสำเนียงกะ
ว่า "โมโตกูโร่"  นักเลี้ยงบ้านเราก็เรียกทับศัพท์ไปเลยว่า "โมโตกูโร่" ไม่ค่อยมีใครเรียกว่าครีบอกดำ  มาถึง
ตรงนี้คงพอรู้ถึงความแตกต่าง  ระหว่างเจ้าสามสีทั้งสองแล้วนะครับ
        เจาะลึกเรื่องของโชว่าอีกนิด  เคยได้ยินคำว่า วีเชฟ,วายเชฟ ที่หน้าโชว่ากันบ้างปล่าวเอ่ย..
        ไม่มีอะไรมากหรอกครับ  คำว่าวีเชฟ,วายเชฟ  หมายถึงถึงลวดลายสีดำบริเวณหน้า  ที่มองดูเหมือน
ตัวอักษรตัว  V ตัว Y ในภาษาอังกฤษ  วีเชฟคือปลาโชว่าที่มีสีดำที่หน้าเหมือนตัววี  วายเชฟก็ทำนองเดียว
กันคือปลาโชว่าที่หน้ามีลวดลายสีดำ  V,Y เชฟ มีที่มาจากการกำเนิดของปลาโชว่าในยุคบุกเบิก  ในครั้งนั้น
มีการเพาะพันธุ์โชว่า  ที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ขึ้นมาได้  เป็นที่ชื่นชอบถูกอกถูกใจนักเลี้ยงในยุคนั้นมาก  มีการ
นำเอาปลาโชว่าหน้าวีวายเชฟไปเป็นพ่อพันธุ์  เพาะลูกมาได้อีกหลายกระบุงโกย  จนโชว่าในยุคนั้นแทบจะมี
หน้าตาพิมพ์เดียวกันหมด
        ไม่ใช่แต่ญี่ปุ่นยุ่นปี่เท่านั้นนะครับ  ที่ชื่นชอบโชว่าหน้าวีวายเชฟ จำได้แม่นยำว่าสมัยเมื่อผมเป็นเอ๊าะๆ
เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน  นักเลี้ยงปลาในบ้านเราก็เอากับเค้าเหมือนกัน  เวลาเลือกโชว่าต้องเฟ้นหาปลาหน้าวีวาย
เชฟ   แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าจะเพลาๆ ลงไป  หันมาสนใจหาปลาโชว่าที่หน้ามีตัวเลขมากกว่า  คือจะเอาไปแทง
หวยน่ะ  ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นนะ แฮ่ะๆ
        เราเรียกสีดำที่ปรากฏในปลาซันเก้ว่าซูมิ  ในโชว่าก็มีเหมือนกัน  แต่ว่าสีดำสำคัญที่บ่งบอกความเป็นโช
ว่า  มีชื่อเรียกว่า...?
        ฟังแล้วดูหยุมหยิมเกินเหตุเนอะ  สีดำบนปลาชนิดโน้นเรียกว่าอย่างนั้น  สีดำบนปลาชนิดนั้นเรียกอย่าง
นี้  ยุ่นปี่นี่ช่างวุ่นวายสิ้นดี  อย่าเพิ่งเสียอารมณ์นะครับ  ยุ่นว่ายังไงก็ต้องว่าตามนั้น  คำว่าซูมิยุ่นใช้เรียกสีดำ
ที่เป็นจุดๆ แต้มๆ และนิยมใช้กับซันเก้  แต่ก็มีเรียกเรียกสีดำที่ปรากฏกับปลาคาร์พประเภทอื่นๆ ด้วยเหมือน
สำหรับโชว่า  อย่างที่บอกแต่ต้นว่า  ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นโชว่า  ชนิดว่าพอมองปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี่
คือโชว่า  คือสีดำที่เป็นแถบพาดยาวตั้งแต่สันหลังจนถึงใต้ท้อง  แถบสีดำที่ผมเน้นนักเน้นหนา  มีชื่อเรียกว่า
แถบ " อูจึริ " ซึ่งพ้องกับชื่อปลาคาร์พชนิดหนึ่งในนามของ " อูจึริโมโน "  อูจึริในภาษาปลาคาร์พหมายถึง
แถบสีดำที่เคลื่อนที่ผ่านลำตัวตั้งแต่สันหลังจนถึงบริเวณใต้ท้อง
        โดยแท้ที่จริงแล้วแถบอูจึรินี้  เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของปลาอูจึริโมโนครับ  ฟังจากชื่อมันก็แหงๆ ชัดๆ
อยู่แล้ว  เพราะว่ามันชื่ออูจึริโมโน  เอ้า..แล้วมาเกี่ยวข้องอะไรกับโชว่าได้ล่ะ  มันจะไม่เกี่ยวข้องได้ไงล่ะครับ
ท่านผู้ชม  เพราะว่าต้นกำเนิดดั้งเดิมของโชว่า  มันเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์  ระหว่างโคฮากุ กับ คิอูจึริ
หนึ่งในปลาชนิดย่อยของอูจึริโมโน  คิอูจึริเป็นปลาอูจึริที่มีพื้นสีเหลืองสมัยก่อนเรียกว่า " คูโรคิฮาน "
        รู้ถึงต้นกำเนิดของมันแล้วร้อง อ๋อ..เลยใช่ไหมครับ  ว่าถ้าแยกสีหรือลวดลายของโชว่าออกมา  มันก็คือ
คือปลาโคฮากุที่มีแถบอูจึริดีๆ นี่เอง  ที่เน้นแล้วเน้นอีกก็เพราะอยากให้รู้และจดจำไว้  เวลาไปเลือกซื้อควรจะ
ใส่ใจให้ความสนใจ  ให้ความสำคัญกับแถบอูจึรินี่มากๆ  คือมันเป็นอะไรที่มองแล้วเห็นแล้วโอ.เค.นะ  นี่คือ
โชว่า  คงเห็นนะครับว่าโชว่าส่วนใหญ่ที่พบเจอ  มักจะมีทั้งจุดแต้มซูมิและแถบอูจึริ  รวมๆ กันอยู่  ถ้าขืนไป
เลือกเอาปลาโชว่าที่มีแต่ซูมิอย่างเดียว  ไม่มีแถบอูจึริในตัวเลยสักแถบ  มันก็จะก้ำๆ กึ่งๆ ระหว่างโชว่ากับซัน
เก้  แล้วอย่างนี้มันจะได้เรื่องได้ราวหรือครับ  สาธุชนโปรดใช้สะดือตรองให้ถ้วนถี่ว่ามันสมควรหรือไม่
        พอหอมปากหอมคอกับที่ไปที่มา  ค้างไว้แค่นี้ก่อนแล้วมาว่ากันถึงชนิดย่อยของมันในตอนหน้าครับผม

<< End >>

<<< กรุณาชมเวบนี้ด้วย Explorer Browser  พบข้อผิดพลาด - ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์พเพิ่มเติม  โทร 01-4598555 นายรัน >>>